xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ลั่นอุทธรณ์ อ้างชุมนุมไม่อยู่ในระยะ 150 ม.จากวัง ชี้ คดีอื่นที่เดียวกันยกฟ้อง แขวะปิดสนามบินแค่ถูกปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกนนำก้าวไกล ยัน ยื่นอุทธรณ์ หลังศาลฟันคุก 4 เดือน คดีแฟลชม็อบ ย้ำ ชุมนุมไม่อยู่ในระยะ 150 เมตรจากวังสระปทุม ทนายเทียบกรณีอื่นใช้สถานที่เดียวกันแต่ศาลยกฟ้อง เปรียบม็อบปิดสนามบินเป็นเดือน แต่ถูกปรับ 2 หมื่น สะท้อนการใช้ดุลพินิจตีความเจตนารมณ์กฎหมาย

วันนี้ (5 ก.พ.) ภายหลังศาลแขวงดุสิต มีคำพิพากษา จำเลยจากกรณีกรณีการทำกิจกรรมไม่ถอยไม่ทนของอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยศาลพิพากษาว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จัดการชุมนุมในระยะไม่เกิน 150 เมตร จากพระราชวัง พิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยให้รอลงอาญาสองปีและศาลปรับในคดีพินัย ฐานไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่เป็นเงินคนละ 10,000 บาท และฐานใช้เครื่องขยายเสียงอีก 200 บาท โดยจำเลยทั้งหมดยื่นต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ต่อ

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า อัยการโจทก์ได้ฟ้องตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฐานไม่แจ้งการชุมนุมขัดขวางทางเข้าออกรถไฟฟ้า การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตและความผิดฐานจัดชุมนุมใน ระยะไม่เกิน 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไปมีความผิดตามกฎหมาย


ในวันนี้ ศาลอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมง เชื่อว่า การที่จำเลยทั้งแปดเชิญชวนให้ไปชุมนุมนั้น เป็นผู้จัดชุมนุมแบ่งหน้าที่กันทำและมีการชุมนุมที่ขัดขวางการเข้าออกรถไฟฟ้า แต่ความผิดเหล่านี้มีโทษปรับเป็นพินัย คือ ไม่มีความผิดในทางอาญา โดยศาลเชื่อว่าการชุมนุมของจำเลยการชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระราชวังสระปทุม แม้จุดที่ยืนชุมนุมอยู่จะอยู่เกินกว่า 150 เมตร ตามข้อต่อสู้ของจำเลย แต่เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาอยู่ในระยะที่ไม่เกิน 150 เมตร ก็ถือว่าเราเป็นผู้จัดชุมนุมจึงต้องรับผิดชอบศาล จึงมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 8 คน ให้จำคุก 4 เดือนปรับ 10,000 บาท แต่พิเคราะห์ถึงความประพฤติฐานะความเป็นอยู่แล้ว ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษารอการลงโทษ 2 ปี และศาลลงโทษปรับตามความผิดพินัยอีกคนละ 10,200 บาท ฐานไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียง

นายพิธา กล่าวว่า พวกเราจะมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อในหลายประเด็น เรื่องหนึ่งคือการได้สัดส่วนของกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า การชุมนุมสาธารณะโดยสันติ อาจมีความกระทบกระทั่งต่อสังคมบ้าง โดยได้ยกตัวอย่างการชุมนุมที่สนามบินที่มีโทษปรับเพียง 20,000 บาท โดยไม่มีโทษทางอาญาอื่นแต่อย่างใด จึงได้ปรึกษากับทนายความว่าให้ดูคำพิพากษาย้อนหลังว่าเคยได้มีการชุมนุมที่สถานสถานสถานที่นี้กี่ครั้งและมีคำพิพากษากันอย่างไรและตนยังมองว่ายังมีความคลาดเคลื่อนเรื่องข้อเท็จจริง เพราะไม่แน่ใจว่าระยะทาง 150 เมตร นั้นวัดจากจุดไหนถึงจุดไหน แต่จุดที่พวกตนยืนกันได้วัดแล้วว่าเกินระยะ 150 เมตรแน่นอน ต้องการอุทธรณ์เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ

“การควบคุมวาระทางสังคมผ่านการชุมนุมอย่างสันติเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แน่นอนว่า หากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นก็อาจจะมีโทษ แต่ต้องได้สัดส่วนกับเหตุ เพราะฉะนั้นจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อ รวมถึงพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่อาจคลาดเคลื่อน” นายพิธา กล่าว


ทนายความ กล่าวเพิ่มว่า กรณีนี้อยากให้ไปคัดคำพิพากษาโดยละเอียดมาดู คำพิพากษาแบบนี้เราเห็นต่างอย่างแน่นอน เพราะหากยกตัวอย่างการชุมนุมที่สกายวอล์ค ที่เดียวกัน ตำรวจเคยฟ้องข้อหานี้แล้วศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณายกฟ้อง สถานที่เดียวกันเลย อัยการก็ไม่อุทธรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นอย่างเช่นนายพิธาพูดคือให้เอาความจริงมาพูดกันดีกว่า ตนเคารพในคำพิพากษาแต่เคารพในความเป็นจริงมากกว่า คดีนี้จึงเหมาะสมที่จะอุทธรณ์เพราะความเป็นจริง ไม่ได้เป็นตามที่โจทก์ฟ้องมา

นอกจากนี้ ในกรณีการแจ้งการชุมนุมทนายความได้ยกตัวอย่างศาลแขวงเชียงราย ได้เคยพิจารณาว่าเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ไม่ต้องขออนุญาตแจ้งให้ทราบ และเมื่อเจ้าพนักงานในพื้นที่ทราบแล้วก็ไม่ต้องแจ้งแล้วในกรณีนี้ในทางนำสืบเห็นได้ชัดว่า มีการชุมนุมในวันที่ 14 ธันวาคม แต่พนักงานสอบสวนบอกว่ารู้มาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กรณีนี้เคยมีคำวินิจฉัยศาลแขวงเชียงราย ว่าหากผู้จัดชุมนุมโพสต์แล้วตำรวจรู้แล้วถือว่าเป็นการแจ้งให้ทราบแล้วเพราะเจตนาของ พ.ร.บ.นี้ มีเพียงแค่นี้

อีกทั้งศาลยังเชื่อว่า มีการขัดขวางทำให้คนเดินไปใช้บริการรถไฟฟ้าได้ไม่สะดวก แต่ในการนำสืบฝั่งจำเลย เบิกพยานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบนรถไฟฟ้า ก็พบว่าในวันนั้นมีปริมาณผู้ใช้งานตามค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นจึงจะเป็นประเด็นที่จะให้ศาลสูงเป็นผู้วินิจฉัย

“ผมยกตัวอย่างว่าสมมติว่าผิด คุณยึดสนามบินศาลอาญาปรับแค่ 20,000 บาท แต่ทำไมไปสกายวอล์กศาลก็บอกว่าชุมนุมสั้นๆ หากจะขัดขวางจริงก็อาจจะนิดหน่อยในช่วงเวลา 45 นาที แต่ทำไมลงโทษจำคุกตั้ง 4 เดือน ผมว่ามันไม่ได้ผิดปกติแต่มันเป็นคำวินิจฉัยที่ผมรับไม่ได้” นายกฤษฎางค์ ทนายความ กล่าว


ด้าน นายพิธา กล่าวเสริมว่า หลักใหญ่สำคัญทั้งในเชิงนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ คือ หลักการได้สัดส่วน แน่นอนบางครั้งอาจมีการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต แต่การเกินขอบเขตจะลงโทษในลักษณะไหนจะต้องได้สัดส่วนและเสมอภาค

นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในจำเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้สะท้อนถึงการใช้ดุลพินิจที่หนีไม่พ้นคนทั่วไปนำไปเปรียบเทียบกับการชุมนุมของหลายกลุ่มที่ผ่านมากระทำการยึดสนามบินแล้วศาลลงโทษปรับเพียง 20,000 บาทเท่านั้น เมื่อเราเปรียบเทียบแล้ว แม้จะคนละกรณีกันแต่ความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนคนทั่วไปที่เดือดร้อนจากการชุมนุม หากดูที่กรณีวันที่ 14 ธันวาคม 2562 การชุมนุมของพวกเราสั้นมากใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงแล้วแยกย้ายกันกลับ ตอนจบก็ยังช่วยกัน ทำความสะอาดด้วย แต่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ส่วนความไม่เหมาะสมหรือสมเหตุสมผลของกฎหมาย ตนเชื่อว่า พรรคก้าวไกลก็จะมีการไปขับเคลื่อนกันต่อ เพราะตั้งแต่ทำงานสมัยอนาคตใหม่ก็เคยตั้งประเด็นเรื่องพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มีความเกินกว่าเหตุไปนิดหน่อยในหลายเรื่อง ที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมมากจนเกินไป


“ถามว่า การชุมนุมของพวกเรา มีประชาชนเดือดร้อนเทียบเป็นน้ำหนักแล้วมันเท่าเทียมกับการต้องติดคุก 4 เดือนหรือ แต่ในอีกกรณีที่มีการยึดสนามบินเป็นเวลาเกือบเดือน มีผู้เสียหายจากการชุมนุมแน่นอนชัดเจน แต่บทลงโทษคือ 20,000 บาท

ผมยังยืนยันเสรีภาพการชุมนุมไม่ว่าเป็นฝ่ายไหนก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบสองกรณีนี้แม้เป็นกฎหมายคนละฉบับ คนละกรณี แต่หากวัดจากความเดือดร้อนของประชาชน ผมคิดว่ากรณี 14 ธันวา 62 ของพวกเรา ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่ไม่น่าถึงขนาดที่จะต้องส่งผลให้พวกเราโดนจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนแล้วรอลงอาญา” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น