xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” สรุป 4 ประเด็น ปิดคดีชุมนุมสนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” สรุปคำแถลงปิดคดีชุมนุมสนามบิน ย้ำขับไล่รัฐบาลโกงเลือกตั้ง-เตรียมล้างผิดให้ “ทักษิณ” โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะออกมาควบคุม ขณะพื้นที่ชุมนุมก็ไม่ได้รบกวนการบิน รัฐบาล “สมชาย” ไม่ได้ประกาศห้ามชุมนุมในราชกิจจานุเบกษา



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงความคืบหน้าคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ซึ่งศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ว่า เมื่อ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางสาวอัจฉรา แสงขาว ทนายความของแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ ได้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีของตน ในเหตุการณ์การชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

นายสนธิ กล่าวว่า แม้คำแถลงปิดคดีของตนจะยาว 26 หน้า แต่สรุปสาระสำคัญที่สุดของคดีนี้ได้ 4 ประเด็นสั้นๆ ในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังนี้

1.พันธมิตรฯ ได้ชุมนุมโดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 ในการต่อต้านการได้อำนาจในการโดยการโกงการเลือกตั้งของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ของนายทักษิณ ชินวัตร และ “ทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทย” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และ 71 เพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และ 237 เพื่อล้างความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของนายทักษิณ ชินวัตร และทุจริตเลือกตั้งทั้งหมด ประเด็นนี้เป็นข้อกฎหมายชัดเจน


2.พันธมิตรฯ ใช้สิทธิ และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 63 ซึ่งหากจะมีการจำกัดขอบเขตของเสรีภาพในการชุมนุมและปราศจากอาวุธ หรือการลงโทษผู้ชุมนุมนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีกฎหมายเฉพาะการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นในปี 2551 ยังไม่มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ จะอาศัยกฎหมายฉบับอื่นมาลงโทษผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธไม่ได้ ประเด็นนี้ก็เป็นข้อกฎหมายเช่นกัน

3.พื้นที่การชุมนุมทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่กระทบการบินเลย ซึ่งมีทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยมีความเห็นตรงกันว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ แถมยังมีการชุมนุมทั้งก่อนและหลังพันธมิตรฯ 5 ครั้ง ก็ไม่เคยปิดสนามบินเลย


นอกจากนั้นยังพบว่ายังคงมีการบินทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิในระหว่างที่มีการชุมนุมที่สนามบิน ซึ่งความจริงแล้วบริเวณที่ชุมนุมก็เหมือนกับพื้นที่ชานชาลาสถานีรถไฟ และสถานีขนส่งมวลชน

4.การประกาศข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินในการห้ามชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะต้องลงนามหลังประกาศข้อกำหนดดังกล่าวภายใน 48 ชั่วโมงประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งปรากฏว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ไม่ได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น