เมืองไทย 360 องศา
รัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลัก และมีนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปๆ มาๆ กำลังเข้าสู่การบริหารราชการแผ่นดิน ย่างเข้าเดือนที่ 6 เข้าไปแล้ว หากเปรียบเทียบกับการเข้าทำงานทั่วไปก็ถือว่าต้องพิจารณากันแล้ว “ผ่านโปร” หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ต้อง “พอเห็นแวว” แล้วว่าจะไปรอดหรือไม่
เมื่อหันกลับมาพิจารณาทั้งตัวนายกฯเศรษฐา และรัฐบาลโดยรวมแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังดูทรงๆ ไม่ได้มีผลงานโดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนใหญ่จะออกมาในแนวสีสัน ฉาบฉวย และต่อยอดมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วแทบทั้งสิ้น เช่น การเร่งส่งเสริม เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ที่เป็นจังหวะต่อเนื่องมาจากการฟื้นตัวจากวิกฤตโรคโควิด รวมไปถึงโครงการส่งเสริมการลุงทุนต่างๆ
แต่สำหรับสิ่งที่เรียกว่าเป็นนโยบาย“เรือธง”ของตัวเองกลับอืดอาด และส่อเค้าว่า “น่าจะแท้ง” หรือไม่ก็ประเภท “ไม่ตรงปก” เช่น โครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ดูแล้วว่า “ไม่น่าไปรอด” ที่ไม่รอดก็เพราะมันเป็นไปไม่ได้มาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ว่าตอนที่เสนอเป็นนโยบายนั้นก็เพื่อ “บลั๊ฟ” คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามในโค้งสุดท้าย เมื่อถึงเวลาต้องทำตามสัญญาจริงๆ มันก็เดินหน้าไม่ได้ด้วยปัญหาสารพัด ที่สำคัญก็คือ มีปัญหาเรื่องกฎหมาย และหาเงินจำนวนมหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาท หากไม่ใช้วิธีการกู้เงินมันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย
นโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท ก็น่าจะออกมาแบบ “ไม่ตรงปก” อีก แม้ว่าจะใช้คำว่า “ภายในปี 70” ยังซื้อเวลาได้อีกสักพักใหญ่ก็ตาม เพราะมันต้องเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนที่ต้องเป็นคนจ่ายเงิน รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองมาเป็นองค์ประกอบหลักด้วย เพราะนี่คือต้นทุนสำคัญ
ดังนั้น สิ่งที่หลายคนกำลังจับตามองกันก็คือ รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยกำลังเจออยู่เวลานี้ก็คือ ต้องเจอกับ “ปัญหาที่ลากยาว” จากวิกฤตโควิด ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งของภูมิภาคและของโลก ทำให้มีปัญหาด้านพลังงาน ทุกสิ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม หรือควบคุมยาก หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ ที่ผ่านมาพวกนั้นยังถือว่าเด็กๆ เพราะมันไม่ได้หยุดนิ่งเหมือนกับโควิด ที่ต้องเนื่องมาสองสามปี หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่เป็นความขัดแย้งยืดเยื้อเป็น “สงครามเย็น” รอบใหม่ ภาวะสงครามในภูมิภาค ก็ล้วนมีผลกระทบต่อเนื่องรุนแรง กับประเทศไทยไม่น้อย
มันไม่โชคดีเหมือนกับยุคนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เมื่อหลายปีก่อน ที่เข้ามาในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นตามวงจร จากการฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง จนมีการ “เคลมเรื่องเร่งจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟ” ก่อนกำหนดกันมาแล้ว แต่คราวนี้แม้จะสามารถ “กินบุญเก่า” จากรัฐบาลเดิม ทั้งการต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุนใหญ่ทั้ง อีอีซี แลนด์บริจด์ เป็นต้น แต่ปัญหาก็คือ จะหานักลงทุนมาได้แค่ไหน เพราะยังมองไม่เห็นชัดเจน มีแค่เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพียงขาเดียวเท่านั้น ที่ถือว่าพอเป็นรายได้หลักอยู่ในเวลานี้ อาจมีเรื่องของการส่งออก ที่เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกบ้างในช่วงเดือน สองเดือนนี้ แต่ก็ยังต้องลุ้นกันต่อ
เมื่อย้อนกลับมาโฟกัสกันที่นโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่เวลานี้ยังไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวเดินหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การเรียกประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ หรือ“บอร์ดระดับชาติ” ก็ยังไม่ขยับ ล่าสุด ทั้งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็น “แม่งาน” และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมายอมรับแล้วว่า “น่าจะต้องเลื่อนออกไป” ความหมายก็คือ ไม่ทันแจกในเดือนพฤษภาคมปีนี้แน่นอน
แต่หากให้พูดตรงๆ ก็คือ “อาจไม่มีแล้ว” เพียงแต่ว่านี่คือ สเตปแรกของการยกเลิก นั่นคือ เลื่อนก่อน จากนั้นก็ตามมาด้วยการยกเลิก ซึ่งหากเดาทางกันล่วงหน้าก็คือ จะออกมาในแนวที่ว่า “ได้ทำเต็มที่แล้วแต่ถูกขัดขวางจากพวกทุนไร้น้ำใจ” ตามที่ประดิษฐ์ถ้อยคำมากล่าวหาฝ่ายที่ตำหนิ วิจารณ์โครงการ เพราะล่าสุด ก็มีรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ออกคำเตือนว่าอย่าทำ เพราะมีปัญหาตามมามากมาย นั่นคือ เสี่ยงคุกหัวโต
ทำให้มองกันอีกด้านหนึ่งก็คือ มันก็เป็นไปได้ ที่รัฐบาลจะใช้อ้างหาเหตุยกเลิกโครงการ แบบ“ใช้เป็นทางลง” แบบเนียนๆ นั่นแหละ
ขณะเดียวกัน อีกเรื่องหนึ่งที่จะกลายเป็น “แต้มลบ” ทั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก็คือกรณี “นักโทษเทวดา” นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ เพราะจะกลายเป็นภาพ “เอาเปรียบ” เป็น อภิสิทธิ์ชน แบบ“อยู่เหนือคนอื่น” ซึ่งในสังคมยุคใหม่ที่เน้นเรื่อง “ความเสมอภาค เท่าเทียม” มันกลายเป็นเรื่องอ่อนไหว สะสมความไม่พอใจแบบคุกรุ่นไป เรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะกลายเป็นเรื่องบวก หรือยกเว้นให้กับใคร ประเภทที่อ้างภูมิหลังเก่าๆ ทั้งเรื่องเคยเป็นนายกฯ ทำความดีกับบ้านเมืองเอาไว้มาก แบบนั้นอาจถือว่า “คิดไปเอง” หรือเปล่า
แม้ว่าล่าสุดทาง “นิด้าโพล” สำรวจผลออกมาว่า กรณีของ “นักโทษเทวดา” จะไม่ส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาดูจากจำนวนเปอร์เซ็นต์ ระหว่าง มีผล กับไม่มีผล คะแนนมันไม่ห่างกันนัก และเมื่อรวมเอาเปอร์เซ็นต์ที่เกี่ยวกับเรื่องความเห็น ส่งผลกระทบมาก กระทบน้อย มารวมๆกัน มันก็ไม่ธรรมดา หรือกรณีคำถามเรื่องกระทบความอยู่รอดของรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน หากรวมเอาความเห็นที่เป็น กระทบน้อย ไปถึงกระทบมาก มันก็น่าสนใจเหมือนกัน
“นิด้าโพล”เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “กรณีทักษิณชินวัตรกับความอยู่รอดของรัฐบาล” จากการสำรวจเมื่อถามถึงความอยู่รอดของรัฐบาล จากกรณีทักษิณ ชินวัตร ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.62ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเลย รองลงมาร้อยละ 21.98 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 15.42 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมาก
เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน ต่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. ในอดีต พบว่า ตัวอย่างร้อยละ41.60 ระบุว่า จะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน รองลงมา ร้อยละ 41.30 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต ร้อยละ11.15 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน
ดังนั้น แม้ว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะกรณีของ “นักโทษเทวดา” นายทักษิณ ชินวัตร จะยังไม่ถึงขั้นทำให้รัฐบาลไปไม่รอด หรือทำให้รัฐบาลล้มไป รวมถึงไม่ก่อวิกฤตได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือการสะสมแต้มลบที่เห็นภาพชัดเจน และหากผสมปนเปด้วยเรื่องปัญหาที่เกิดจาก “เนื้อใน” ของรัฐบาลเข้ามาอีก มันก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตเร็วขึ้น อย่างน้อยมันก็ทำให้การบริหารของพรรคเพื่อไทยลำบาก รวมไปถึงว่าที่นายกฯคนต่อไป คือ “อุ๊งอิ๊ง” นส.แพทองธาร ชินวัตร จะลำบากมากขึ้น !!