xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ขออย่าเปรียบเทียบ “ต้มยำกุ้ง” กับ “เงินดิจิทัล” ชี้ความจำเป็นไม่เหมือนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” แจง ปัญหาแจกเงินดิจิทัลเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ได้ เพราะขณะนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐต้องเข้าแทรกแซง ไม่มีธนาคารล้ม ไม่มีล็อกดาวน์โควิด แม้ทั้งสองเรื่องสร้างภาระหนี้ให้รัฐบาลเหมือนกัน แต่กรณีต้มยำกุ้งได้รับการแก้ไขไปแล้วสมัยตนเป็น รมว.คลัง
วันที่ 7 ต.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ “อย่าเปรียบต้มยำกุ้งกับเงินดิจิทัล” มีรายละเอียดระบุว่า

ผมมีความเห็นว่า บทความของลงทุนแมนที่คัดค้านโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่ไปเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาแบงก์ล้มในเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง นั้น เป็นการเปรียบเทียบสองสิ่งที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

บทความในเฟซบุ๊กลงทุนแมน ระบุว่า

[[8. รู้ไหมว่าจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ตอนนั้นรัฐบาลไทยก็มีหนี้แบบนี้ 1 ล้านล้านบาท ในกองทุนฟื้นฟู FIDF ผ่านมาเป็น 20 ปี ตอนนี้เงินต้นยังเหลือ 600,000 ล้านบาท ปีที่แล้ว แค่ค่าดอกเบี้ยก็ 19,000 ล้านบาท และกว่าหนี้ก้อนนี้จะหมดคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสิบปี

9. ที่สำคัญคือรู้ไหมว่ารัฐบาลเอาที่ไหนมาจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟู คำตอบก็คือ 0.46% ของเงินฝากพวกเราทุกคน
ใช่.. ถ้าไม่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในตอนนั้น วันนี้พวกเราทุกคนจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร “เพิ่มขึ้นอีก 0.46%” เงินจำนวนนี้ธนาคารทุกธนาคารจะหักและนำส่งกองทุนฟื้นฟู

ถ้าจะถามว่า วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 26 ปีที่แล้วสร้างภาระให้ลูกหลานจนถึงวันนี้ และยังคงสร้างภาระต่อไปจนถึงวันหน้า ก็คงตอบว่า “มันเป็นแบบนั้น”

ทุกวันนี้คนไทยที่มีเงินฝากต้องเสมือนเสียค่า subscription 0.46% ต่อปี ถ้าฝากเงิน 10,000 บาท ก็เสียค่าสมาชิกปีละ 46 บาท ถ้าฝากเงิน 100,000 บาท ก็เสียค่าสมาชิกปีละ 460 บาท..

หลายคนคงเริ่มคิดว่า ลูกหลานของเราที่เกิดมา มีสิทธิที่จะไม่ต้องมารับภาระจ่ายเงิน 0.46% จากเงินฝากของเขา แต่เขาก็ต้องจ่าย เพียงเพราะเขาเกิดมาอยู่ในประเทศไทย..

10. เรากำลังสร้างหนี้ก้อนมหึมา ที่ขนาดเกือบเท่าหนี้กองทุนฟื้นฟูอีกก้อนหนึ่ง หลายคนยังไม่รู้ว่ามันเยอะขนาดไหน ?]]

ผมเข้าใจเจตนาดีของลงทุนแมน ที่ต้องการเตือนให้ประชาชนเข้าใจว่า โครงการเงินดิจิทัลมีความเสี่ยงจะสร้างหนี้สาธารณะ ที่ก้อนใหญ่เปรียบเทียบได้กับกรณีต้มยำกุ้ง และจะก่อภาระต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานยาวนานเช่นเดียวกับกรณีต้มยำกุ้ง

แต่ผมขอให้ข้อสังเกต ว่า เหตุการณ์ต้มยำกุ้งกับโครงการเงินดิจิทัล มีหลายเรื่องที่แตกต่างกัน

หนึ่ง ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องแทรกแซง

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลจำเป็นจะต้องยันไม่ให้ระบบธนาคารล้ม จึงต้องเข้าไปอุ้มผู้ฝากเงินในธนาคารที่ล้มเอาไว้ทั้งหมด ไม่ให้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นเรื่องฉับพลันเร่งด่วนเพื่อประคองระบบการเงินของประเทศเอาไว้

ดังนั้น การที่ลงทุนแมนเอากรณีต้มยำกุ้งมาเปรียบเทียบ จึงไม่ค่อยถูกต้อง เพราะแตกต่างจากโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งไม่มีความเร่งด่วน ไม่มีธนาคารล้ม ไม่มีล็อกดาวน์โควิด

สอง วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้เกิดภาระต่อรัฐบาล

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลเป็นหนี้เนื่องจากเข้าไปอุ้มผู้ฝากเงินในธนาคารที่ล้ม เป็นเงินประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผมเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลัง ยอดหนี้เหลืออยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

กระทรวงการคลังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ละปีในขณะนั้น 4 หมื่นล้านบาทเศษ ซึ่งสร้างปัญหาต่อการจัดทำงบประมาณอย่างมาก

และถ้าผมไม่แก้ไข ภาระการใช้หนี้เงินต้น 1.1 ล้านล้านบาท และดอกเบี้ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท ก็จะตกเป็นภาระของผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศไทยไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอีกหลายปี

ส่วนกรณีเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท นั้น ถ้าในอนาคตดอกเบี้ยพันธบัตรขึ้นไปถึงระดับ 5% ต่อปี ก็จะเกิดภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และก็จะตกเป็นภาระของผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศไทยไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอีกหลายปี เช่นเดียวกันภาระจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

ดังนั้น การที่ลงทุนแมนเอากรณีต้มยำกุ้งมาเปรียบเทียบ เพื่อเตือนให้ระวังว่า โครงการเงินดิจิทัลจะสร้างภาระให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นการเปรียบเทียบที่พอรับได้

สาม ผมแก้ไขภาระวิกฤตต้มยำกุ้งให้เป็นธรรมแล้ว

ในขณะที่ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง ผมมีความเห็นว่า การที่ภาระยอดหนี้ที่เหลืออยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท และภาระดอกเบี้ยแต่ละปี 4 หมื่นล้านบาท ตกเป็นภาระของผู้เสียภาษีทั้งประเทศทุกคน นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้ที่ได้ประโยชน์คือเฉพาะผู้ที่มีเงินฝากในธนาคาร

ผมจึงได้เสนอพระราชกำหนดต่อรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้โอนภาระหนี้และภาระดอกเบี้ยดังกล่าว ไปให้ผู้ฝากเงินในธนาคารเป็นผู้รับภาระแทนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ

ด้วยเหตุนี้ คนไทยที่มีเงินฝากจึงต้องช่วยกันรับภาระเสมือนเสียค่า subscription 0.46% ต่อปี

และผมได้ใช้พระราชกำหนดดังกล่าว โอนภาระการจ่ายดอกเบี้ยไปให้แก่ผู้ฝากเงินในธนาคาร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกระทรวงการคลังอีกต่อไป

สำหรับภาระหนี้เงินต้น 1.1 ล้านล้านบาท ที่ผมใช้พระราชกำหนดโอนไปให้เป็นภาระของผู้ฝากเงินในธนาคารนั้น เงินค่า subscription ที่เรียกเก็บ 0.46% ต่อปี ก็ได้ใช้คืนหนี้เงินต้นไปแล้ว จนปัจจุบันเหลือเงินต้นเพียง 6 แสนล้านบาท ตามที่ลงทุนแมนระบุไว้

ดังนั้น การที่ผมใช้พระราชกำหนดโอนภาระหนี้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ออกจากบัญชีของรัฐบาล ไปให้เป็นภาระต่อบัญชีของผู้ฝากเงินในธนาคาร จึงเป็นการทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

จึงไม่ควรเอาเรื่องที่ผมแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง มาเปรียบเทียบกับโครงการเงินดิจิทัล

แต่ผมต้องขอขอบคุณลงทุนแมน ที่ได้หยิบยกถึงปัญหาความเสี่ยง ที่จะเกิดขึ้นต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อให้ประชาชนวิเคราะห์เรื่องโครงการเงินดิจิทัลอย่างรอบคอบ

ซึ่งภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้น จากโครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น หนีไม่พ้นที่จะตกเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศไทย ความเดือดร้อนจะอยู่ยาวนาน

ส่วนรัฐบาลที่ได้หน้า ที่เอาการจ่ายเงินไปแสดงเป็นตัวเลขจีดีพีนั้น ก็อาจจะอยู่ได้เพียงชั่วคราว

ส่วนประชาชนที่เชียร์ ก็คือ ผู้ที่หวังอยากจะได้เงินในฐานะส่วนตัวเท่านั้น ขอให้ได้เงินในวันนี้ไปก่อน ส่วนปัญหาที่จะเกิดในอนาคตไม่ค่อยสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น