วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้ผู้คนและสังคมได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดี
จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมช่วงก่อนโควิด-19 อัตราการทำร้ายตัวเองอยู่ที่ 6 - 6.3 ต่อประชากร 1 แสน แต่ในช่วงการระบาดของโควิด ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 7.3-7.4 ต่อประชากร 1 แสนซึ่งสูงพอๆ กับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน รวมทั้งภาวะป่วยกายหรือใจเรื้อรัง การใช้สุราและสารเสพติด และภาวะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ภาวะโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตยังมีอัตราเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี 2563 มีอยู่ 355,537 คน แต่ในปี 2564 เพิ่มเป็น 358,267 คน และอัตราการฆ่าตัวตายในปี 2564 อยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2547 - 2563 ที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5 - 6 รายต่อประชากรแสนคน
ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15 - 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น สอดคล้องกับรายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทยปี 2565 ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
พ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า
• ยอมรับภาวะที่ลูกเป็น และไม่โทษอดีตที่ผ่านมา
• รับฟังปัญหาของลูกอย่างเข้าใจ เปิดใจ และอยู่เป็นเพื่อนในยามที่ลูกไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง
• กระตุ้น และสนับสนุนให้ลูกทำกิจวัตรประวันได้ตามปกติมากที่สุด และอาจชักชวนให้ผู้ป่วยออกไปข้างนอก ลดการเก็บตัว และออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้การรักษาดีขึ้น
• คอยดูแลเรื่องการกินยาของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
• ประเมินภาวการณ์ฆ่าตัวตาย จากการสังเกต และสอบถามเมื่อสงสัย หากมีความเสี่ยงให้ปฏิบัติดังข้อที่กล่าวไปแล้ว
• ดูแลสุขภาพกาย และใจของตนเองและคนในครอบครัวคนอื่น ๆ ให้เป็นปกติ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องใช้พลังกายและใจสูง ทุกคนในครอบครัวจึงจำต้องต้องมีสุขภาพกายใจที่ดีอยู่เสมอ หากพ่อแม่สงสัยว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยควรปรึกษาจิตแพทย์
การดูแลและการรักษา เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า
• พ่อแม่จำเป็นต้องทำจิตใจตนเองให้สงบและพร้อมต่อการรับฟังเรื่องต่างๆของลูก
• หาบรรยากาศที่สงบ ผ่อนคลาย พูดคุยถึงอาการที่พ่อแม่สังเกตเห็นและสะท้อนให้ลูกเข้าใจถึงความห่วงใย ความพร้อมที่จะเข้าใจและช่วยเหลือของพ่อแม่
• เปิดโอกาสให้เด็กพูดและระบายความรู้สึกโดยไม่แย้งหรือรีบสอน
• หากพบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าให้ชักชวนลูกมารับการรักษากับจิตแพทย์ และหากพบความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้พ่อแม่คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมของลูก เก็บของมีคม สารเคมี ยาหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เด็กสามารถใช้ในการทำร้ายตนเอง และไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง และรีบพามาพบแพทย์
ทั้งนี้ มูลนิธิเด็กโสสะฯ ตระหนักและให้ความสำคัญของภาวะสุขภาพจิตที่ดี ของทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงแม่ น้าผู้ที่คอยปลูกฝังเลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยเล็งเห็นว่าทุกคนในสภาพแวดล้อมเดียวกันย่อมส่งผลต่อกันทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกซึ่งกันและกัน เด็กๆ และเยาวชนในมูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เติบโตด้วยความรัก ความผูกพันความห่วงใยช่วยเหลือฉันท์พี่น้อง เหล่านี้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี และภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็ง
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กในครอบครัวโสสะ ได้ที่ https://www.sosthailand.org/donate-now
และรับชมคลิป Never Ending Family : ครั้งแรกที่เด็กกำพร้าจะได้ถ่ายรูปกับครอบครัว ได้ที่ https://youtu.be/7HEu1ANr6c4
ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, กรมสุขภาพจิต
#วันสุขภาพจิตโลก #สุขภาพจิต #สุขภาพจิตเด็ก #WorldMentalHealthDay #WMHDAY #sosthailand #มูลนิธิเด็กโสสะ #เติมรักที่ขาดด้วยครอบครัวทดแทน