“ชัยธวัช” ตั้งกระทู้จี้ทบทวนคำถามประชามติ ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไร้ ส.ส.ร.หวั่นเกิดกรณีวางยา จนแก้ รธน.ไม่ได้ ด้าน “ภูมิธรรม” โต้ขอให้ตั้งสติ สงวนจุดต่าง ชวนมาร่วมมือสถานปนา รธน.ใหม่ ย้ำ ปมนักโทษชั้น 14 ป่วยจริง วอนก้าวไกลหยุดโยนบาปให้รัฐบาล ชี้ กฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหา ปัดเอื้อคนๆ เดียว
วันนี้ (11 ม.ค.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ สรุปว่า จะตั้งคำถามประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดยมองว่า การล็อกรายละเอียดดังกล่าวนั้น จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต เหมือนกรณีที่เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวดพระมหากษัตริย์ และไม่มีการระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่กำหนดให้ดำเนินการผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งตนมองว่า การตั้งคำถามดังกล่าวอาจจะเป็นการวางยาตัวเอง จึงขอถามรัฐบาลว่าจะทบทวนการตั้งคำถามประชามติดังกล่าวหรือไม่
“การกำหนดดังกล่าวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เท่ากับว่า ผู้ที่มีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีเฉพาะคณะรัฐประหารเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งการเขียนคำถามดังกล่าวอาจจะวางยาให้กับตัวเอง เช่น ใช้กระบวนการ ส.ส.ร. เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ว. ไม่เห็นด้วย เพราะคำถามประชามติประชาชนไม่เห็นด้วยจะให้มี ส.ส.ร. รวมถึงการตั้งคำถามประชามติ ที่ล็อกหมวดใดหมวดหนึ่ง ทำให้ประชามติผ่านยาก เพราะแทนที่จะเป็นคำถามแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง แต่กลับทำให้เสียงแตกเพิ่มมากขึ้น การตั้งคำถามด้วยความจงรักภักดีล้นเกิน ทำให้การดีเบต การรณรงค์ แทนคำถามมีรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญของคสช. แต่จะเป็นการถกเถียงว่าแก้ไขหมวด1 หรือ หมวด 2 หรือไม่ ขอให้รัฐบาลคิดผลด้านกลับด้วย” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช ยังได้ตั้งถามต่อ ถึงการดำเนินคดีทางการเมือง ในประเด็นการฟื้นฟูหลักนิติรัฐที่เข้มแข็งของรัฐบาล โดยในปี 2566 คดีการเมืองถูกคุมขัง 56 คน ถือว่าสูงที่สุดแม้เป็นก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามา แต่เมื่อมีนายกฯคนใหม่ ยังพบการดำเนินคดีของผู้ชุมนุมทางการเมือง คดี 112 เพิ่มขึ้น 9 คดี และผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งกระทบต่อสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ ยังพบการคุกคามทางการเมืองแม้เปลี่ยนรัฐบาลยังพบการกระทำต่อเนื่องรวม 203 กรณี โดยเกิดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน 70 กว่าคดี ซึ่งกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานจากกรณีบุคคลที่ได้รับการรักษาในชั้น 14 ซึ่งเกินระยะเวลา 120 วัน เทียบกับนักโทษรายอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับกรณีดังกล่าว ทำให้กระบวนการยุติธรรม ถูกตั้งคำถามถึงความเท่าเทียม
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า เรื่องประชามติยังไม่ถึงรัฐบาล ยังอยู่ในชั้นกรรมการ และต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ที่รับฟัง คือไม่แตะหมวด 1 หมวด2 แต่บันทึกความเห็นที่แตกต่าง โดยสำนักนายกฯรวบรวมสรุปอยู่ และพยายามทำให้เสร็จภายในเดือน ม.ค. นี้ สำหรับความกังวลใจของนายชัยธวัช ไม่แตกต่างกัน คือ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาความขัดแย้ง แต่มีมุมมองแตกต่างกัน เพราะความจริงมีให้เห็นหลังจากที่ในสมัยที่เป็นฝ่ายค้านร่วมกันพบว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถผ่านไปได้ เพราะมีบางพรรคไม่สนับสนุนการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เหมือนกับการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล อีกทั้งสิ่งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ย้ำเสมอว่าจะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นนี้หากถามสภา หรือวุฒิสภา เขาติดใจเรื่องนี้ และทำให้เรื่องอื่นๆ เราไม่ได้ สิ่งที่ต้องการคือได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งการไม่แตะ 2 หมวดจะทำให้ไม่มีความขัดแย้ง ผมขอชวนท่านแสวงจุดร่วมกัน หากท่านละเว้นและทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตย เพราะทุกกลุ่มวิชาชีพที่สอบถาม ทั้งผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร มุสลิม คนภาคใต้ คนชนเผ่า ส.ว. ไม่เอาการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่สบายใจ แต่สนับสนุนผมว่าท่านอย่าหมกมุ่นแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ทำไมท่านถึงกังวลใจแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ผมว่าท่านละเว้นได้จะได้รับการแก้ไข สถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ ขอให้ท่านตั้งสติและมาแก้ปัญหาให้ประชาชนร่วมกัน ส่วนกรณีที่ไม่มี ส.ส.ร. นั้นเป็นคนละขั้นตอนกับการตั้งคำถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายภูมิธรรม ยังชี้แจงถึงประเด็นการดำเนินคดีทางการเมือง ว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการคุกคามเยาวชน แต่หากมีรูปธรรมชัดเจนกระบวนการกฎหมายดำเนินการอยู่ ส่วนที่รู้สึกว่าเป็นประเด็นเกิดจากประเด็นทางการเมือง ขณะที่มีกฎหมายดำเนินการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมายและปฏิบัติ หากไม่ทำเจ้าหน้าที่อาจมองว่าเลือกปฏิบัติ ละเมิดมาตรา 157 ดังนั้น ตนขออย่าให้ท้าทายกฎหมาย ส่วนกฎหมายที่เป็นปัญหานั้นขอให้ฝ่ายค้านมาจับมือรัฐบาลในการแก้กกฎหมายและแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการเสวนาโดยสันติ หาทางออกร่วมกัน ลดขัดแย้งและปัญหาของสังคม
“เรื่องชั้น 14 ผมขอให้ทำความเข้าใจในกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางความเข้าใจ อย่าโยนเรื่องให้รัฐบาลและอย่ามองว่าเกิดความสองมาตรฐาน หากมองด้วยเรื่องจุกจิก แก้ปัญหาเพื่อคนๆ เดียวนั้น ไม่มีใครทำ แต่เป็นการออกกฎหมายเพื่อคนส่วนใหญ่ ตามหลักสากล ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการ ผู้ป่วย ก็ป่วยตามที่หมอบันทึก ขอให้เปิดให้กว้าง ไปให้ไกล ไปให้ถึงประชาชนเป็นหลัก อย่าวนเฉพาะชั้น 14” นายภูมิธรรม ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตั้งกระทู้ถามดังกล่าว นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกประท้วง นายชัยธวัช เป็นระยะ เพราะมองว่า การตั้งกระทู้ถามสดดังกล่าว มีลักษณะไม่เป็นกระทู้ถามสดและใช้เวลาเกิน ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ฐานะประธานในที่ประชุม ได้วินิจฉัยว่า ให้อนุโลมให้ดำเนินการ แม้จะเกินเวลา 1 นาที อีกทั้งการอภิปรายอยู่ในประเด็น และขอให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม นายไชยวัฒนา ยังไม่หยุดประท้วง เพราะเวลาหมดแล้ว และการตั้งคำถามดังกล่าวนั้น ถือว่าเลอะเทอะ เมื่อนายชัยธวัช ยังพูดพาดพิงถึงนักโทษชายชั้น 14 ทำให้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกประท้วงด้วยว่า “ทำไมแตะคนชั้น 14 ไม่ได้ จะเอาโอเลี้ยง และข้าวผัดไปเยี่ยมที่ชั้น 14” ทำให้ นายไชยวัฒนา ประท้วงตอบโต้ไปมา จนนายวันมูหะมัดนอร์ ต้องเบรกการประท้วงและวินิจฉัยให้ฝ่ายรัฐบาลตอบกระทู้ถามสด ทำให้ถูก ส.ส.ก้าวไกล ประท้วง เนื่องจากนายชัยธวัช ยังไม่ได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน