xs
xsm
sm
md
lg

ตีตกญัตติก้าวไกล พท.ย้ำแก้ รธน.แต่ไม่หนุนหวั่นประชามติด่างพร้อย ส.ว.ไม่เอาด้วย ยันทำตามสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาตีตกญัตติทำประชามติแก้ รธน. ของก้าวไกล ด้าน “เพื่อไทย” ย้ำจุดยืนแก้ รธน. แต่ไม่เอาด้วยญัตติของก้าวไกล หวั่นสร้างความด่างพร้อยให้กระบวนการทำประชามติ เชื่อ ส.ว.ไม่เอาด้วย ย้ำ พท.ทำตามสัญญาแน่ แต่ควรรอผลการทำงานของ คกก.ประชามติ ของ ครม.ก่อน

วันนี้ (25 ต.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาญัตติขอให้สภาพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ

โดย นายพริษฐ์ เสนอญัตติดังกล่าว ว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความจำเป็นเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยยอมรับว่า ต้องเริ่มจากการทำประชามติ เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% อย่างไรก็ดี ในประเด็นดังกล่าวที่รัฐบาลดำเนินการ ตนมองว่า อาจถูกมองได้ ใน 3 ฉากทัศน์ คือ 1. อ่านใจรัฐบาลว่าเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล ในการทำและตั้งคำถามประชามติ ถือว่าการพิจารณาญัตตินั้นเป็นประโยชน์กับทุกกฝ่าย และ ส.ส.รัฐบาลไม่ลำบากใจที่จะเห็นชอบเพื่อให้เกิดการทำงานคู่ขนานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน 2. รัฐบาลไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าทำประชามติอย่างไร หรือตั้งคำถามอย่างไร กรณีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติ มีกรรมการ กว่า 30 คน ตนมองว่า ยังไม่ใช่ และควรใช้สภาที่มาจากตัวแทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงและมาจากหลากหลายชุดความคิดของสังคมเพื่อดำเนินการ และ 3. รัฐบาลคิดต่างจากพรรคก้าวไกล ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านต้องใช้กกลไกยื่นญัตติเพื่อให้เวทีรัฐสภาเป็นช่องทางที่ความเห็นได้รับการตอบสนองและความเห็นชอบที่ผ่านทั้งสภา และวุฒิสภาตามกฎหมายประชามติ กำหนดว่า ครม.ต้องนำไปพิจารณา

นายพริษฐ์ กล่าวย้ำด้วยว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส.ส.ร.สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและการปกครองนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญห้ามไว้ว่าการกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่จากพรรคก้าวไกลได้อภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยย้ำว่า รัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอจากสภา ถึงการเดินหน้าทำประชามติ ที่ต้องเปิดกว้างในการรณรงค์ของประชาชนทุกฝ่าย รวมถึงไม่ปิดโอกาสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะกระทบต่อความชอบธรรมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอให้สภาทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้บางคนจะไม่สามารถให้ความเห็นด้วยได้ แต่ขอให้งดออกเสียง อย่าคว่ำ หากจะคว่ำขอให้ไปคว่ำที่ ส.ว. เพื่อรักษาเกียรติของ ส.ส. ตัวแทนประชาชน

ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ต่างอภิปรายไม่สนับสนุน เพราะอาจสร้างจุดด่างพร้อยให้กับกระบวนการทำประชามติ เนื่องจากกลไกที่ใช้รัฐสภาต้องอาศัยความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วย พร้อมเรียกร้องให้สังคมออนไลน์หยุดแปรความการลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของพรรคก้าวไกล ว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติหรือแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. พร้อมระบุว่าอย่าแปรความว่าการไม่เห็นชอบญัตติดังกล่าวคือการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหรือ ออกเสียงประชามติ เพราะขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กังวลว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันจะยอมให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นว่า ควรทำประชามติด้วยวิธีการตามาตรา 9(2) ใช้มติของ ครม. เพราะเป็นกลไกไม่เห็นชอบของ ส.ว. และเป็นการย้ำว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนคำถามที่พรรคก้าวไกลกำหนด ไม่ควรเสนอแต่ควรเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่ชี้นำ

ทางด้าน นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการทำประชามติ และแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวขอเวลาทำงานถึงสิ้นปี และขณะนี้เหลืออีก 2 เดือน ซึ่งตนเชื่อว่า คณะทำงานไม่ต้องการซื้อเวลาแน่นอน หวังว่า พรุ่งนี้จะไม่มีข่าวที่ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำญัตติเพื่อขวางการทำประชามติ

“พรรคเพื่อไทย มีจุดยืนมั่นคงว่า จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อาจจะแตกต่างในคำถามประชามติ ส่วนญัตติดังกล่าวที่จะประสบความสำเร็จต้องส่งให้วุฒิสภา และ ครม.ใช้ดุลพินิจว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ผมมองว่า ความสำเร็จเกิดไม่มาก ดังนั้น ควรรอการทำงานของคณะกรรมการประชาติ เพื่อให้โอกาสเกิดความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ร. และยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่บิดพริ้วสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียง” นายนพดล กล่าว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 24 ต.ค. มีมติให้ส่งเสริมให้พิจารณาญัตติดังกล่าวในสภาฯ เพราะมีความสำคัญและสภาไม่จำเป็นต้องขัดขวางหรือทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย หากไม่มีฝ่ายค้านสนับสนุนอาจไม่สำเร็จ

นายจาตุรนต์ อภิปรายด้วยว่า การทำประชามติตามที่เสนอญัตติดังกล่าวเป็นความเข้าใจร่วมกัน เพราะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากยกร่างใหม่ต้องทำประชามติ ปัญหาต้องพิจารณา คือ การตีความไม่ตรงกัน เรื่อง ทำประชามติ ในขั้นตอนใด หรือกี่ขั้นตอน หรือกี่ครั้ง อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่เสนอให้ทำประชามตินั้น มีคถามที่เกิดขึ้นคือ จะมีต่อการแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเจ้าของเรื่องคือรัฐสภา หากรัฐสภาไม่มีมติ การแสดงความต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติจะมีผลได้อย่างไร

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า กระบวนการทำประชามติ ตามกฎหมาย คือ ทำประชามติที่ใช้กติกาแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น แต่ปัจจุบันมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติให้ถือเกณฑ์ผ่าน คือ การออกเสียงต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ คือ ต้องมีคนมาลงคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

“การทำประชามติด้วยกติกาดังกล่าว ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติได้ยาก ทำให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อไม่ให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิถึงจำนวนกึ่งหนึ่ง เท่ากับการทำประชามติจะไม่ผ่าน ดังนั้น ผมเห็นว่า หากทำประชามติไม่แก้กฎหมายประชามติก่อนเป็นความเสี่ยงอย่างสูงให้ประชามติไม่ผ่าน เนื่องจากกติกาพิสดารไปกว่ารัฐธรรมนูญ 50 และรัฐธรรมนูญ 60 และมีปัญหาในกระบวนการและความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับปิดโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้าน นายพริษฐ์ อภิปรายปิดญัตติตอนหนึ่ง ว่า พรรคก้าวไกลไม่กังวลว่าคณะกรรมการศึกษาประชามติของรัฐบาล จะใช้เวลาเท่าไร แต่กังวลว่าจะมีความเห็นต่างหรือเหมือนกับคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนออย่างไร ทั้งนี้ กรณีที่พบว่ามีการปรับเปลี่ยนกรรมการ เพราะไม่ให้ ส.ส.เข้าไปเป็นกรรมการศึกษา ดังนั้น หากจะให้ ส.ส.ก้าวไกล แสดงความเห็นต่อรัฐบาล จำเป็นต้องใช้เวทีสภา และถือเป็นการใช้เวทีทางแจ้งที่จะดำเนินการ

หลังจาก ส.ส.อภิปรายกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติเสียงข้างมาก 262 เสียง ไม่เห็นชอบ ต่อ 162 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ถือว่าญัตติดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น