เมืองไทย 360 องศา
ในเวลานี้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มมีการกระตุ้นให้มีการพูดถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยเริ่มมีท่าทีอิดออด แสดงออกให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และหากต้องมีการแก้ไขก็มีแนวโน้มจะออกมาในแบบ “รายมาตรา” มากกว่าจะเป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ กล่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ว่า โดยหลักการสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ จะไม่แตะหมวด 1 และ 2 และไม่แตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่แทรกในหมวดต่างๆ นอกเหนือจากนั้น จะเป็นการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะจัดทำให้แล้วเสร็จรวมถึงกฎหมายลูกภายใน 4 ปี เพื่อที่จะให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ ควรเป็นไปตามกติกาที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน
สำหรับ วิธีการทำประชามติมี 3 วิธี คือ 1. ประชาชนจำนวน 5 หมื่นคน ร่วมเข้าชื่อ 2. ยื่นเสนอผ่านรัฐสภา 3. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทำประชามติ ส่งต่อสภา ซึ่งทาง ครม.ต้องการเห็นว่า หากเริ่มต้นจัดทำแล้วจะมีทิศทางอย่างไร จึงมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งคณะกรรมการทำประชามติแม้จะมี 35 คน จากภาคต่างๆ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด จึงต้องกำหนดวิธีการ ว่าจะพบตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพื่อหารือ เช่น เชิญอธิการบดีและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาคสื่อมวลชน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดว่า ต้องมาจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะมีการเชิญพรรคการเมืองขนาดเล็กหารืออีกครั้ง โดยจะประชุมนัดแรก วันที่ 10 ต.ค. เวลา 15.00 น. และคิดว่าการทำประชามติครั้งแรก จะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกในปี 67
สำหรับคณะกรรมการ จำนวน 35 คน ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานกรรมการ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองประธานกรรมการ คนที่ 1 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองประธานกรรมการคนที่ 2 นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะกรรมการ
ขณะที่กรรมการประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นายพิชิต ชื่นบาน พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม พล.ต.อ. สุเทพ เดชรักษา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายวิรัตน์ วรศสิริน นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายวิเชียร ชุบไธสง นายวัฒนา เตียงกูล นายยุทธพร อิสรชัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายประวิช รัตนเพียร นายนพดล ปัทมะ นายธนกร วังบุญคงชนะ นายธงชัย ไวยบุญญา นายเทวัญ ลิปตพัสลภ นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
คณะกรรมการชุดนี้ จะตีโจทย์เป็น 3 ประเด็น คือ 1. กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร จะแก้แบบไหน ใช้ ส.ส.ร.หรือไม่ จะเลือกมาแบบไหน จังหวัดละคน แบ่งสัดส่วนตามจำนวนประชากร หรือมีทั้งเลือกตั้ง และบางส่วนมาจากการผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มวิชาชีพ 2. ต้องพิจารณาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง เราอยากประหยัดด้วยการทำน้อยที่สุดแต่ เพราะแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 4-5 พันล้าน โดยต้องดูให้ถูกต้องตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้
แน่นอนว่า คำพูดดังกล่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย จะยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ออกมาแบบไหน และที่สำคัญก็คือ ไม่ยืนยันว่าจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยมีการพูดถึงเรื่องการประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณ รวมไปถึงเรื่องกำหนดระยะเวลาว่า ต้องดำเนินการภายใน 4 ปี ซึ่งรวมถึงการออกกฎหมายลูกอีกด้วย
อีกทั้งสิ่งที่ นายภูมิธรรม เน้นย้ำตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ จะไม่แตะต้อง หมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ตามมาตราต่างๆ
นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ท่าทีของพรรคก้าวไกล ที่ไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวของรัฐบาล โดยอ้างว่าไม่มีความชัดเจนว่า จะมี ส.ส.ร.ที่มีการเลือกตั้งทั้งหมดมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งหากมองในมุมนี้มันก็มองเห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกลรู้ทันถึงไม่เข้าร่วม นอกเหนือจากที่รู้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ ตัวเองไม่ได้เป็นคนกำหนดเกม สู้ออกมาวิจารณ์อยู่วงนอกจะได้ภาพทางการเมือง อย่างน้อยก็สำหรับบรรดา “ด้อมส้ม” ได้พอใจ
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ในเวลานี้มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า กำลังอยู่ในช่วงของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน ขณะเดียวกันเวลานี้หากว่าไปแล้ว เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทบจะกลายเป็นเรื่องไกลตัวไปแล้ว อีกทั้งบรรยากาศกดดันก็เริ่มผ่อนคลายลงไปมากแล้ว หลังจากที่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยนับจากนี้ไปอีกไม่กี่เดือนบรรดา ส.ว.ก็จะหมดสภาพ ไปตามบทเฉพาะกาล ส่วนเนื้อหาในมาตราอื่นๆ ก็ล้วนแล้วไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อประชาธิปไตยอะไรมากมายนัก ตรงกันข้ามเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ล้วนปรับปรุงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เช่น ปี 40 ปี 50
หรือหากมีการแก้ไข หรือยกร่างใหม่ เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตชาวบ้านพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือร่ำรวย จากคนจนหาเช้ากินค่ำ ข้ามฐานะไปเป็นเศรษฐีไม่ต้องอดมื้อกินมื้อหาใช่ไม่ และที่สำคัญรัฐบาลก็ยังสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้ตามปกติ และก่อนหน้านี้ไม่นานก็เริ่มมีผลสำรวจออกมาแล้วว่า ชาวบ้านต้องการให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไว้ท้ายๆ จนแทบไม่ต้องสนใจเลย รวมไปถึงเชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จด้วยซ้ำไป
ขณะเดียวกัน สำหรับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเวลานี้ ถือว่าตัวเองก็ได้เป็นรัฐบาล ถือว่ามีอำนาจอยู่ในมือกลับมาอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ หรือเคลื่อนไหวให้เกิดแรงกระเพื่อม เหมือนกับที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ย้ำให้เห็นแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหากไปแตะใน หมวดที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มันก็ย่อมเกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก ดังนั้น หากให้จับอาการแล้ว มันก็เหมือนกับว่าฝ่ายรัฐบาลเริ่มเดินเครื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไปเรื่อยๆ และที่สำคัญหากแก้ไข ก็น่าจะเป็น “แบบรายมาตรา” มากกว่ายกร่างใหม่ทั้งฉบับ !!