xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิธรรม” ยันทำประชามติแน่ไตรมาสแรกปี 67 จ่อประชุม 35 กก.10 ตุลาฯ ก้าวไกลยังไม่ส่งชื่อ จ่อตัดออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภูมิธรรม” การันตีประชามติไตรมาสแรกปี 67 มีแน่ เตรียมนัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก 10 ต.ค. เผย ก้าวไกล ยังไม่ส่งชื่อ ถ้าเดินหน้าประชุม 2 ครั้ง ไม่มาตัดชื่อออก ปิดประตูแก้หมวด 1 และ 2 เหตุไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งใหม่

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 3 ตค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แถลงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าตนได้รับมอบหมายให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อาจใช้เวลานานในการสรรหา โดยหลักการสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือจะไม่แตะหมวด 1 และ 2 และไม่แตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่แทรกในหมวดต่างๆ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะจัดทำให้แล้วเสร็จรวมถึงกฎหมายลูกภายใน 4 ปี เพื่อที่จะให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ควรเป็นไปตามกติกาที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน สำหรับวิธีการทำประชามติมี 3 วิธี 1. ประชาชนจำนวน 5 หมื่นคนร่วมเข้าชื่อ 2. ยื่นเสนอผ่านรัฐสภา 3. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทำประชามติ ส่งต่อสภาฯ ซึ่งทาง ครม.ต้องการเห็นว่าหากเริ่มต้นจัดทำแล้วจะมีทิศทางอย่างไร จึงมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งคณะกรรมการทำประชามติแม้จะมี 35 คน จากภาคต่างๆ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด จึงต้องกำหนดวิธีการว่าจะพบตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพื่อหารือ เช่น เชิญอธิการบดีและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาคสื่อมวลชน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดว่า ต้องมาจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะมีการเชิญพรรคการเมืองขนาดเล็กหารืออีกครั้ง โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 10 ต.ค. เวลา 15.00น. และคิดว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกในปี 67

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราพยายามดึงทุกภาคส่วนมาเข้าร่วมให้มากที่สุด โดยรายชื่อ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จำนวน 35 คน ประกอบด้วย ตนประธานกรรมการ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองประธานกรรมการ คนที่ 1 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองประธานกรรมการคนที่ 2 นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะกรรมการ ขณะที่กรรมการประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง​ นายพิชิต ชื่นบาน พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม พล.ต.อ. สุเทพ เดชรักษา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายวิรัตน์ วรศสิริน นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายวิเชียร ชุบไธสง นายวัฒนา เตียงกูล นายยุทธพร อิสรชัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายประวิช รัตนเพียร นายนพดล ปัทมะ นายธนกร วังบุญคงชนะ นายธงชัย ไวยบุญญา นายเทวัญ ลิปตพัสลภ นายเดชอิศม์ ขาวทองนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ขณะที่พรรคก้าวไกลแสดงความจำนงค์ว่าจะเข้าร่วมแต่ยังไม่ส่งรายชื่อเข้ามา นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นและผู้ช่วยเลขานุการ

เมื่อถามว่าสาเหตุที่พรรคก้าวไกลยังไม่มาร่วม เพราะไม่มั่นใจกระบวนการคัดเลือกสสร. หากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เท่ากับไม่ได้มาจากประชาชน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็ขอให้เข้ามาเสนอในที่ประชุมการแสดงความคิดเห็นจะเป็นอย่างไรก็เข้ามาคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนทั้งหมด ท่านเป็นเพียงหนึ่งความเห็นก็ต้องมาดูว่าคนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร ประเด็นของท่านถูกนำเสนอแน่ และหากไม่เข้าร่วมก็อาจเสนอความเห็นผ่านช่องทางอื่นๆได้

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกลไม่เสนอชื่อเข้ามาจนการประชุมเกิดขึ้นแล้วจะมีการจัดชื่อออกหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้ามีการประชุม 2 ครั้งแล้วยังไม่เสนอชื่อมาอาจพิจารณาตัดออก

เมื่อถามว่าการไม่มีรายชื่อจากพรรคก้าวไกลเจ้ามาจะทำให้คณะกรรมการชุดนี้ชอบธรรมหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า ตนก็ยังรอ แต่หากไม่พร้อมไม่สะดวกใจด้วยเหตุใด เราก็มีเวลาที่จะทำให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นได้ เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จำเป็นต้องมีสสร.หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะตีโจทย์เป็น 3 ประเด็น คือ 1 กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร จะแก้แบบไหน ใช้สสร.หรือไม่ จะเลือกมาแบบไหน จังหวัดละคน แบ่งสัดส่วนตามจำนวนประชากร หรือมีทั้งเลือกตั้งและบางส่วนมาจากการผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มวิชาชีพ 2 ต้องพิจารณาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง เราอยากประหยัดด้วยการทำน้อยที่สุดแต่ เพราะแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 4-5 พันล้าน โดยต้องดูให้ถูกต้องตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ หากทำได้แต่ 2 ครั้ง คือก่อนแก้และหลังแก้ก็จะดีที่สุด เพราะใช้งบประมาณ 7-8 พันล้าน นอกจากประหยัดงบประมาณแล้วยังประหยัดเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะแต่ละครั้งอาจใช้เวลาประมาณ 4 เดือน และข้อ 3 คือเรื่องเกี่ยวกับคำถามในประชามติครั้งแรกจะเป็นอย่างไร และนอกจากจะใช้เวลา4 ปีแล้วสำคัญที่สุดคือต้องทำให้ผ่าน เอาความเห็นต่างมาคุยกันให้ตกผลึก และหาจุดร่วมที่สามารถทำได้ 

เมื่อถามว่าทำไมต้องวางเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 นายภูมิธรรม ตอบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อาจถูกนำไปสร้างความขัดแย้ง อะไรที่เป็นปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไขก็งดเว้นไว้ก่อน ตนไม่ได้หมายความว่าอะไรผิดถูกหรือดีไม่ดี แต่เราต้องทำให้รัฐธรรมนูญผ่านไม่ได้ อะไรที่ยังขัดแย้งเราก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งวัดเพียงด้านเดียวในสังคมที่มีความแตกต่างจึงต้องหาจุดร่วมให้ได้ มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ที่เราสร้างขึ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น