xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเลือกปากท้อง เมินแก้รัฐธรรมนูญ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - ภูมิธรรม เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

อาจเป็นเรื่องไม่ถูกใจกับบางพวกบางพรรคการเมืองก็ได้ กับความคิดเห็นของชาวบ้านในเบื้องต้น ที่สะท้อนผ่านผลสำรวจหรือโพล โดยล่าสุด “สวนดุสิตโพล” ได้เผยแพร่ผลสำรวจออกมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน ผลปรากฏว่า เรื่องการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” กลับไม่ใช่ความต้องการของชาวบ้าน โดยเป็นความสนใจในระดับท้าย หรือแทบไม่สนใจเลย แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก็คือ “ปากท้อง”และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้เผยผลสำรวจเรื่อง “5 นโยบายเร่งด่วน รัฐบาลเศรษฐา” ระบุว่า หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 โดยระบุว่า มี 5 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที คือ 1. การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 2. การแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 3. การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน 4. การผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว และ 5. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สวนดุสิตโพล จึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “5 นโยบายเร่งด่วน รัฐบาลเศรษฐา” จำนวน 1,358 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 18-25 ก.ย.66 สรุปผลได้ ดังนี้

ความคิดเห็นของประชาชนต่อ 5 นโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาลเศรษฐา ในนโยบายการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า) 86% บอกเร่งด่วนที่สุด 10.87% ค่อนข้างด่วน และ 3.13% ชะลอไว้ก่อน , นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 72.69% เร่งด่วนที่สุด, 26.04% ค่อนข้างด่วน และ 1.27%ชะลอไว้ก่อน ,

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 63.95% เร่งด่วนที่สุด 16.38% ค่อนข้างด่วน และ 19.67% ชะลอไว้ก่อน, นโยบายการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว 58.07% เร่งด่วนที่สุด 33.78% ค่อนข้างด่วน และ 8.15% ชะลอไว้ก่อน และ นโยบายการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 30.85% เร่งด่วนที่สุด 36.14% ค่อนข้างด่วน และ 33.01% ชะลอไว้ก่อน

เมื่อถามประชาชน คิดว่า 5 นโยบายเร่งด่วน จะทำได้สำเร็จหรือไม่ พบว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 63.68%สำเร็จ 11.80% ไม่สำเร็จ 24.52% ไม่แน่ใจ , นโยบายการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 62.46% สำเร็จ 11.64% ไม่สำเร็จ 25.90% ไม่แน่ใจ, นโยบายการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว 60.78% สำเร็จ 6.61% ไม่สำเร็จ 32.61% ไม่แน่ใจ

นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 51.28% สำเร็จ 15.36% ไม่สำเร็จ33.36% ไม่แน่ใจ และ นโยบายการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 22.66% สำเร็จ 23.93% ไม่สำเร็จ 53.41% ไม่แน่ใจ

สุดท้ายเมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลเศรษฐา เร่งดำเนินการนโยบายใดเพิ่มเติม อันดับ 1 ขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง 52.03% อันดับ 2 ปราบปรามการทุจริต รับสินบน 47.38% อันดับ 3 พัฒนาระบบสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชน 43.02% อันดับ 4 ปฏิรูปการศึกษาไทย 38.95% และ อันดับ 5 กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน 36.05%

แน่นอนว่า เมื่อผลสำรวจที่สะท้อนความต้องการของประชาชนออกมาแบบนี้ มันย่อมทำให้บางพรรคการเมือง บรรดานักเคลื่อนไหวการเมือง ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในความหมายแบบ “ยกร่างใหม่” ทั้งฉบับ โดยอ้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อ้าง “ประชาธิปไตย” ลบล้างเผด็จการอะไรประมาณนั้น พยายามสร้างกระแสว่า หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร ที่ผ่านการเลือกตั้งมายกร่างใหม่ จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น โครงสร้างทางสังคมดีขึ้น มีคำว่า “ไม่ถูกกดทับ” อะไรประมาณนั้น ตามศัพท์แสงสวยๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาในแวดวงเสวนา หรือประเภทที่ว่า “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ขึ้นมาอีกไม่นาน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว การยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ จะต้องมี “ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก” นั่นคือ งบประมาณในการ “ทำประชามติ” ในแต่ละครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 4 พันล้าน ซึ่งเชื่อว่าต้องมีประชามติประมาณ 4 ครั้ง ใช้งบร่วม 2 หมื่นล้านบาท กับเนื้อหาที่เชื่อว่าก็ไม่ได้วิเศษไปมากกว่าเดิมเท่าใดนัก หรืออาจออกมาเป็นตรงกันข้ามก็ได้ เพราะแล้วแต่เสียงข้างมากจะพาไปทางไหน

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การแก้ไข หรือการ “ร่างใหม่” นั้นจะว่าไป ล้วนเป็นการ “สร้างกระแส” มาจากฝ่ายที่อ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่หากว่ากันตรงๆ ก็คือ ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจหลังการรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ว่านั้น ในตอนแรกก็มีพรรคเพื่อไทย ของ นายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวเป็นแกนนำ และในตอนหลังก็แตกแขนงมีพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล ในเวลานี้เข้ามาสมทบ จนกระทั่งพลิกกลับมาเป็น “แกนนำ” ในเวลานี้

ในช่วงแรกก็จะเป็นการ “สร้างกระแสเผด็จการ” กดขี่ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเป็นสากล จะต้องหาทางยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 ที่อ้างว่าเป็นผลผลิตของ เผด็จการคสช.

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 จะโดนโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีเกราะป้องกันอยู่บ้างตรงที่ผ่านการรับรองจากประชาชน โดยการ “ลงประชามติ” มาแล้ว ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในเนื้อหา หากมองกันแบบตรงไปตรงมาแล้ว มันก็ไม่ถือว่าแย่มากมายนัก บางเรื่องก็ถือว่ามีความก้าวหน้า มีการระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ปราบโกง” ขณะที่ในหมวดสำคัญอื่นๆ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากฉบับอื่น หรือบางอย่างก็มีการนำมาปรับปรุง จากรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50

ที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เกี่ยวกับพรรคการเมือง และนำมาใช้เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งจริงๆแล้ว มันก็เป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองโดยตรง ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน หรือก่อนหน้านี้ ที่มีการวิจารณ์และกลายเป็นกระแสต่อต้านเผด็จการก็คือ “บทเฉพาะกาล” และ มาตรา 272 ที่ให้อำนาจส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา แต่ในเมื่อ ส.ว.ชุดนี้ กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คือเดือนพฤษภาคม ทุกอย่างก็แทบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า หลังจากการโหวต และได้นายกรัฐมนตรี ได้รัฐบาลใหม่ ทุกอย่างก็เริ่มเงียบสงบลง

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ความหมายก็คือ จะแก้ไขรับธรรมนูญโดยก่อนหน้านี้บอกว่าจะให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ปี โดยไม่แตะหมวด ที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในหมวดสำคัญดังกล่าว หมวด หรือมาตราอื่น มันก็คงไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก และเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ นาน 4 ปี นอกเหนือจากไม่ต้องการสร้างเงื่อนไขให้รัดคอตัวเอง ทำนองว่าหากเสร็จเร็วก็ต้องยุบสภาก่อน จึงเผื่อเอาไว้ให้ครบวาระ 4 ปี

ขณะเดียวกัน เมื่อมองถึงบรรยากาศในวันหน้า เรื่องฝ่ายเผด็จการนั้นจบลงไปแล้ว และฝ่ายตัวเองก็ได้เป็นรัฐบาลแล้ว อีกไม่นาน ส.ว.ก็จะครบวาระ อารมณ์หรือกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงลดความเข้มข้นลง และเป็นไปได้เหมือนกันว่า ถึงตอนนั้นอาจมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา ที่เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และมีปัญหา โดยไม่ต้องร่างใหม่ให้ต้องเสียงบประมาณมหาศาลแบบสูญเปล่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท !!


กำลังโหลดความคิดเห็น