“ภูมิธรรม“ รับ อยากคุย “วิษณุ“ ร่วม คกก.ประชามติ ร่างรธน.ใหม่ ชี้ เชี่ยวชาญ กม. ระบุ หากทําประชามติ 3-4 ครั้งตามศาล รธน. หวั่นงบพุ่งหมื่นกว่าล้าน ต้องรวบรัดให้น้อยที่สุด
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 22 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ว่า จากการให้สัมภาษณ์ครั้งก่อนได้เรียนไปแล้วว่า จะมีการพูดคุยกันภายใน 1 -2 สัปดาห์เพื่อให้การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อย ส่วนไทม์ไลน์การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ขอให้มีการนัดประชุมในครั้งแรกก่อน โดยในการประชุมวันแรกจะเห็นไทม์ไลน์ วัตถุประสงค์ ขอบเขต เป้าหมาย รวมถึงการร่างกฎหมายลูกต่างๆ
“ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมุติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี ซึ่งผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนได้มีการทาบทามผู้ที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยทาบทามและพูดคุยกับทั้ง นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นางสาวสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งบุคคลเหล่านี้ให้ความสนใจ แต่ก็ต้องพูดคุยในรายละเอียด เพราะอยากให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมเกิดความสบายใจ มีการพูดคุยที่มีบทบาท และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ส่วนนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทาบทามนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีโอกาสได้คุยกับนายวิษณุ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุย เพราะเป็นผู้รู้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญในกฎหมาย รวมถึงหลายคนที่เคยมีบทบาท เราจะได้รวมความคิดเห็น หรือหากยังไม่มีโอกาสคุย เวลาที่มีประชุมก็สามารถปรึกษาหารือกันได้
เมื่อถามว่า จะมีการเชิญคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 มาร่วมด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนยินดีต้อนรับทุกคน แต่ต้องคุยกันในรายละเอียดและกรอบแนวทางว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า ได้มีการทาบทามตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าร่วมคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนพยายามเชิญพรรคการเมืองมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณจำนวนคน เมื่อลิสต์รายชื่อ ก็เกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม พบปะพูดคุยแสดงความคิดเห็น
เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และประชามติ รวมแล้วประมาณเท่าใด นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในส่วนของการทำประชามติ ตีความตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประมาณ 3-4 ครั้ง โดยจะใช้งบประมาณครั้งละ ประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่ตนคิดว่าอยู่ในแนวทางที่พูดคุยกันให้ชัดเจน ต้องอาศัยความคิดเห็นจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว เราพยายามจะทำให้การทำประชามติน้อยครั้งที่สุด อันไหนสามารถควบรวมได้ก็จะทำ โดยยึดแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ และหากเราสามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุดก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะใช้งบประมาณสูงถึงหมื่นล้านบาท