“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 ตอน ยื้อแก้ รธน.รัฐบาลซื้อเวลา หนีเร่งยุบสภา
หนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีนัยสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บรรดาแกนนำของพรรคได้ประกาศต่อสาธารณชนหลายครั้งในทำนองว่า
ทันทีที่รัฐบาลมีอำนาจและสามารถประชุมคณะรัฐมนตรีได้เมื่อไหร มติแรกในการประชุมคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ทว่าท่าทีล่าสุดของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ นอกจากจะยังไม่มีความชัดเจนในนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการทำประชามติเลยแม้แต่น้อย
โดยมีเพียงคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นประธานเท่านั้น
พร้อมกับการประกาศว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการแตะหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการซื้อเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งๆที่ถ้ามองถึงแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำรัฐธรรมนูญมาก่อน มีแต่เพียงการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
ระยะเวลา 4 ปี ถือว่าเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าการประกาศไว้ล่วงหน้าเช่นนี้ ด้านหนึ่งต้องการหนีจากแรงกดดันทางการเมืองให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาทันทีที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่ามกลางกระแสด้อมส้มที่ยังแรงต่อเนื่องเช่นนี้ หากภายใน 1-3 ปีประกาศให้มีการเลือกตั้งโดยที่ผลงานของรัฐบาลยังไม่ออกดอกออกผล พรรคก้าวไกลอาจเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบและกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติในรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากต้องการซื้อเวลาเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด
ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้กว่าจะมีรายงานผลการศึกษาออกมาอย่างน้อยจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี โดยไม่มีการรับประกันว่าถึงเวลานั้นรัฐบาลจะสามารถเดินหน้าทำประชามติหรือไม่
ทั้งนี้ เป็นเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน ซึ่งนั่นหมายถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยเสียงของส.ว.ในการลงมติให้ความเห็นชอบอย่างน้อยมากกว่า 80 เสียงตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ดังที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้
วุฒิสภายังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการวางอิฐก้อนแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาชุดปัจจุบันหลังจากผ่านไทม์ไลน์ทางการเมืองที่สำคัญทั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าส.ว.ได้แตกออกเป็นหลายกลุ่ม
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และกลุ่มภาคประชาสังคมที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ยิ่งส.ว.แตกออกเป็นกลุ่มก้อนมากเท่าใด ความยากของรัฐบาลในการคุมเสียงในสภายิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมองในภาพรวมแล้วบางทีรัฐบาลชุดนี้อาจไม่ยากแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นไปได้ เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างใด รัฐบาลก็มีแต่เสียกับเสียอยู่ดี ดังนั้น การนิ่งเฉยและหว่านนโยบายประชานิยมเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ให้อยู่กับตัวให้นานที่สุด จะเป็นคำตอบที่ดีมากกว่า
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1