xs
xsm
sm
md
lg

อนุกก.ฯ ชงชุด "ภูมิธรรม" 25 ธ.ค.ประชามติ 3 ครั้ง เผยแนวคำถาม 2 รูปแบบ สสร. 77 จว.-ทางอ้อม 23

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นิกร” เผย อนุกก.ฯ ชงกรรมการชุด “ภูมิธรรม” 25 ธ.ค. ทำประชามติ 3 ครั้ง เผยแนวคำถาม 2 รูปแบบ ขณะที่ สสร.100 คน เลือกตรง 77 จังหวัด และทางอ้อม 23 คนภาคประชาชน และ ผู้เชี่ยวชาญ


วันนี้ (22ธ.ค.) เมื่อเวลา 15.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสรุปของอนุกรรมการฯ ที่เตรียมเสนอ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์เป็นประธาน ในวันที่ 25 ธ.ค. โดยข้อสรุปที่เราจะเสนอคือ คณะอนุกรรมการเสนอให้มีการทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 1 ก่อนเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ภายหลังแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เปิดช่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำประชามติ และครั้งที่ 3 หลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ก่อนนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯก็จะทำประชามติ โดยการทำแต่ละครั้งจะมีค่าใช่จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่ต้องไปดูว่าจะมีวิธีการที่ประหยัดได้หรือไม่เช่นทำพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆอาทิการเลือกตั้นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการทำประชามติ 3 ครั้งนี้สอดรับกับคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานอีกด้วย นอกจากนี้ทางอนุกรรมาธิการยังจะเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์สะดวกขึ้น
นายนิกร กล่าวอีกว่าคณะอนุกรรมาธิการ ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งแรก แบ่งเป็น2 แนวทาง คือแนวทางที่1 จะเป็นคำถามเดียวโดยมีการเสนอ 2 คำถาม ให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ประกอบด้วยคำถามที่ 1 คือ จะตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมาด 2 พระมหากษัตริย์” คำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.”

นายนิกร กล่าวอีกว่า แนวทางที่ 2 ในการตั้งคำถามประชามติคือ จะถามเป็น 2 คำถาม โดยแนวคำถามที่ 1 จะถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2” และอีกคำถามคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ สสร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แนวคำถามที่ 2 ประกอบด้วยคำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.” และคำถามที่ 2 คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สสร.เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”​

นายนิกร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นจำนวนที่มาของ สสร. จากการรับฟังความคิดเห็นจะให้มีสสร. 100 คน เลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงจากประชาชนจังหวัดละ 1 คน ร่วม 77 คน ส่วนที่เหลือจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านรัฐสภา 23 คน แบ่งเป็น องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน ที่เหลืออีก 13 คน จะมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ จำนวน 4 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญจำนวนอีก 4 คน พร้อมกันนี้คณะอนุกรรมการยังเสนอให้นำความคิดเห็นของประชาชนที่แตกต่างและหลากหลายโดยรวบรวมเพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป อย่างไรก็ตามข้อสรุปที่กล่าวมานี้จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการชุดพิจารณาจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายว่าแนวทางการทำประชามติจะเป็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น