xs
xsm
sm
md
lg

”ชัชวาล“ซัด พรรคร่วม รบ.ย้อนดูนโยบายหาเสียงไว้กับเกษตรกร แต่พอมีอำนาจกลับตัดงบ ก.เกษตร ทิ้ง ชี้ งบไม่เพียงพอขยายพื้นที่ชลประทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(4 ม.ค.)นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรไทยมากกว่า 30 ล้านคนหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเกษตรกร มีทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมง และป่าไม้ แต่การเป็นเกษตรกรไทยมีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาด้านราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง ปัญหาด้านการผูกขาดจากกลุ่มทุนใหญ่ และอีกหนึ่งปัญหาหนึ่งพี่น้องเกษตรกรพบเจออยู่บ่อยครั้งก็คือ ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยโดยเฉพาะน้ำ

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้พี่น้องเกษตรกรก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการดูแล แก้ไขปัญหา ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320,000,000 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 150,000,000 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประธานเพียงแค่ 33,000,000 ไร่ ส่วนอีก 117,000,000 ไร่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาวุธหรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินเครื่องแก้ปัญหาเรื่องน้ำของหน่วยงานต่างๆ ก็คือ งบประมาณ แต่กรมชลประทานได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 81,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 6,500 ล้านบาทเป็นงบลงทุนและงบอื่นๆ 74,000 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มพื้นที่ได้ 170,000 ไร่คิดเป็น 0.14% เท่านั้นด้วยงบประมาณเท่านี้ กรมชลประทานต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ๆเหลือ

ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ต้นทุนในระบบมีน้อยจนแทบไม่เหลือ อย่างภาคอีสานมีแม่น้ำสำคัญอยู่คือ แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ทำหน้าที่กักเก็บน้ำและส่งน้ำผ่านลำน้ำสาขาต่างๆกระจายทั่วภาคอีสาน แต่ในฤดูแล้งแหล่งน้ำในแม่น้ำมูล แม่น้ำชี มักจะมีปัญหาขาดแคลนต้นทุนน้ำมาโดยตลอด โครงการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนทดแทนแหล่งเดิมจึงจำเป็นเช่น โครงการผันน้ำโขงผ่านแม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำให้ประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญในรายละเอียดงบประมาณที่รัฐบาลแจ้งในเรื่องค่างบประมาณในการศึกษาผลกระทบและออกแบบสำรวจโครงการโขงเลยชีมูล ตั้งแต่ปี 2565 และเป็นงบผูกพันจนถึงปี 2569 รวมเป็น 1,365 ล้านบาท

“บ้านผมเฝ้ารอจากโครงการนี้ว่า จะสรุปอย่างไร หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง แม่น้ำโขงไหลผ่านแม่น้ำชีมาถึงทุ่งกุลา ร้อยเอ็ดบ้าน ตอนเหนือของทุ่งกุลามีลำน้ำเสียวหนองบ่อบรบืออยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นอ่างเก็บน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ผันน้ำจากลำน้ำชี ใส่หนองบ่อบรบือความยาว 245 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สี่จังหวัด 16 อำเภอ สู่ทุ่งกุลาร้องไห้ก็จะยิ้มสดใสทันทีแต่โครงการนี้มีผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง ผมจึงขอฝากเรื่องนี้ไปยังกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณางบประมาณว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการสอบถามถึงความเป็นไปได้ ผลกระทบต่อประชาชน ผลดี ผลเสีย ความคุ้มค่าของโครงการ“นายชัชวาล กล่าว

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า อีกหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาภายนอกเขตชลประธานก็คือ กรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับจัดสรรเพียง 7200 ล้านบาทเป็นงบรายจ่ายประจำ 1,000 ล้านบาท และงบลงทุนเพียง 6200 ล้านบาท งบประมาณเท่านี้ต้องดูแลแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานพื้นที่ 117,000,000 ไร่ ตนไม่มั่นใจว่าทรัพยากรน้ำจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำชุมชนกว่า 30,000 แห่ง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนได้เหมือนกันทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7000 กว่าแห่ง เขามีความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจแต่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย และยังขาดงบประมาณในการแก้ปัญหาการกระจายอำนาจทางงบประมาณ จึงเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ตามมาตรา 6 วรรค 2 ของ พรบ.ทรัพยากรน้ำปี 2561 ที่บัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะแห่งใดก็ได้

“ผมอยากให้พรรคร่วมรัฐบาลย้อนดูนโยบายหาเสียงไว้แต่ละพรรคต่างชิงความได้เปรียบ นำเสนอนโยบายภาคเกษตรกร แต่พอท่านเข้ามาเป็นรัฐบาลงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลพี่น้องเกษตรกลับถูกตัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องน้ำมีงบประมาณไม่เพียงพอ อย่าให้นโยบายที่รัฐบาลแถลง ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของรัฐบาลเป็นเพียงวาทกรรม ไม่มีใครอยากจากบ้านนาเสี่ยงโชค ที่ต้องมา เพราะไม่มีงาน ไม่มีน้ำ ทำเกษตรไม่ได้ หากมีน้ำทำเกษตรได้ไม่มีใครมาหรอกครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น