กรมชลประทานเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เมืองชัยภูมิ ด้วยโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง ลดพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายจากน้ำท่วม นำวิถีชีวิตใหม่ของเกษตรกรลุ่มน้ำลำปะทาว จากทำนาปีละครั้ง สู่เกษตรกรรมยั่งยืน
โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) กรมชลประทาน ไม่เพียงบรรเทาภัยน้ำท่วมในเขตเมืองชัยภูมิ แต่ยังเปลี่ยนลำน้ำที่เป็นเพียงน้ำไหลผ่าน ให้กลายเป็นลำน้ำที่ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของคนลุ่มน้ำลำปะทาวด้วย
นายพงศ์กรณ์ กำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง ที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า “โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในตัวเมือง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอเมืองชัยภูมิเท่านั้น แต่ต้องการสร้างประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ทำให้การออกแบบทั้งระบบคลอง และประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมน้ำในลำปะทาว และลำห้วยสาขาต่างๆ ต้องคำนึงประโยชน์ของทุกฝ่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มักถูกน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากน้ำหลาจากลำน้ำที่อยู่นตามเทือกเขา รอบตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ และเกิดจากฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ จึงมักถูกน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ เช่นปี พ.ศ. 2553 น้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า ล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1.20 เมตร ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างประเมินไม่ได้”
วิถีชีวิตของนายลือชา ดาศรี เกษตรกรบ้านโพธิ์ใหญ่ หมู่ 6 ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ดีขึ้นมาก หลังการเกิดขึ้นของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน เพราะทำให้เขามีอาชีพเสริมและรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น
นายลือชาเล่าว่า ตำบลบ้านเล่า เป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่ในลุ่มน้ำลำปะทาว ได้ใช้ประโยชน์จากลำปะทาวเพื่อทำนาปีละครั้ง จากนั้นลำน้ำก็จะไหลผ่านเข้าตัวเมืองชัยภูมิ ที่อยู่ห่างจากชุมชนออกไปไม่เกิน 5 กิโลเมตร ในปีที่ฝนตกหนัก น้ำจากลำปะทาวจะไหลเชี่ยวแรง หลากท่วมพื้นที่การเกษตรสองฝั่งของลำน้ำ ก่อนจะไหลบ่าเข้าท่วมเขตเทศบาล แต่ในช่วงฤดูแล้ง น้ำในลำปะทาวก็จะเป็นน้ำไหลผ่าน เพราะไม่มีประตูระบายน้ำที่จะคอยกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้มากนัก
“โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิช่วยให้ชีวิตครอบครัวผมเปลี่ยนไปมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำประตูระบายน้ำในลำปะทาวเพื่อหนุนให้น้ำสูงขึ้น จากนั้นก็จะไหลออกไปที่คลองชุดใหม่ ที่เชื่อมลำปะทาว กับห้วยดินแดง คลองนี้ช่วยแบ่งน้ำออกจากลำปะทาว ให้ออกไปห้วยดินแดงโดยไม่ผ่านตัวเมืองชัยภูมิ ทำให้น้ำท่วมลดลง ส่วนเกษตรกรสองฝั่งลำห้วยที่ขุดใหม่ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตลอดปี ส่วนตัวผมปกติทำนาอย่างเดียว และทำปีละครั้ง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่มาขุดคลอง และทำประตูระบายน้ำด้วย ผมก็คุยกับครอบครัวเลยว่าเราจะทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เพราะเราจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีแล้ว เพราะประตูระบายน้ำจะกักน้ำไว้ให้เราใช้ประโยชน์ได้ด้วย” นายลือชากล่าว
สวนผสมผสานของนายลือชามีประมาณ 7 ไร่ แยกจากพื้นที่นาข้าวชัดเจน เพราะเขาตั้งใจว่าจะทำสวนได้ตลอดปี ภายในสวนของเขาแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน เริ่มจากปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นไม้พี่เลี้ยงในสวน ให้ร่มเงาต้นไม้อื่น และปรุงดินให้ร่วนซุย จากนั้นก็ปลูกไม้เช่นทุเรียน ลำไย เงาะ อะโวคาโด และที่สำคัญคือฝรั่ง ซึ่งทดลองปลูกปีแรก แต่ก็ได้ผลดีเกินคาดจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
นายลือชาเล่าต่อว่า เขากับครอบครัวทดลองปลูกฝรั่งทั้งไส้ขาว คือพันธุ์กิมจู และฝรั่งพันธุ์ไส้แดง สายพันธุ์จากไต้หวัน ชื่อพันธุ์หงเป่าสือ และพันธุ์แตงโม หรือชีกัวปาล่า โดยใช้น้ำจากลำปะทาวเพื่อดูแลพืชในสวน ตอนนี้พืชอื่นๆ ยังไม่เติบโตมาก แต่ฝรั่งที่ปลูกปีแรก พร้อมกับตอนที่เจ้าหน้าที่เริ่มสร้างประตูระบายน้ำ ตอนนี้สร้างรายได้ให้ครอบครัวทุกสัปดาห์ และคนที่เคยได้ชิม ก็สั่งจองทั้งต้นพันธุ์และผลฝรั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว
“ครอบครัวผมมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละพันกว่าบาทจากการขายฝรั่งอย่างเดียว และเชื่อว่าต่อไปก็คงมีมากขึ้น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะโครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชัยภูมิของกรมชลประทาน ที่ทั้งช่วยแก้ปัญหาน้ำหลากท่วมแล้ว ก็ยังช่วยทำให้มีรายได้จากการเกษตรเพิ่มอีก ตอนนี้สมาชิกในครอบครัวผมสนุกกับการทำสวน เพราะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในลำปะทาวเต็มที่”
นายสุรัตน์ วรรณพงษ์ เกษตรกรหมู่ 5 ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ใช้ประโยน์จากโครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชัยภูมิ เพราะนาข้าวของเขาอยู่ติดกับคลองขุดใหม่ ที่เป็นคลองเชื่อมระหว่างลำปะทาว กับห้วยดินแดง ทำให้เขาและชาวนาคนอื่นๆ ทำนาได้ตลอดปี
นายสุรัตน์เล่าว่า ปกติแล้วชาวนาที่นี่ทำนาปีละครั้งตามฤดูฝน เพราะได้น้ำจากลำปะทาวที่ไหลผ่านเข้าเมือง แต่หลังจากมีคลองขุดใหม่เป็นคลองเชื่อมลำปะทาวไปห้วยดินแดง ทำให้จากนี้ชาวนาจะทำนาปรังได้ด้วย เพราะมีน้ำตลอดปี “ยอมรับว่าช่วงแรกหลายคนกังวลใจเรื่องเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน แต่ตอนนี้ได้รับเงินชดเชยและได้เห็นแล้วว่าเจ้าหน้าที่ทำเรื่องชดเชยเวนคืนให้ชาวนาอย่างเหมาะสม แล้วยังได้คลองน้ำไหลผ่านพื้นที่นา ส่วนคันคลองสองฝั่งก็เป็นถนนที่ตัดใหม่ ทำให้สัญจรได้สะดวกกว่าเดิมอีก ต่อไปนี้จะสัญจรเข้าออกก็คงไม่ต้องลัดเลาะไปไกล เพราะมีคลองตัดใหม่ ได้ถนนมาสัญจรด้วย” นายสุรัตน์กล่าว
ทุกวันนี้หน้าบ้านของนายสุรัตน์ยังมีผลไม้ในสวนหลายชนิดวางขายให้ผู้สัญจรผ่านไปมา ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้สดไผ่กิมซุง หรือหน่อไม้ดองที่แปรรูปไว้ กล้วยน้ำว้า ส้มโอ มะละกอ หรือพืชสวนครัว พริก ข่า ตะไคร้ ที่ปลูกเสริมในสวนครัว โดยได้ประโยชน์จากน้ำในระบบชลประทาน
ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าน้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ รวมประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงมีแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1. ก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันออกให้ได้ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองจำนวน 125 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ระยะที่ 2. พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อชะลอน้ำหลากให้อยู่ในปริมาณที่บริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น
ระยะที่ 3. ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า-ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก
ระยะที่ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลาก ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรมชลประทานได้รับอนุมัติให้ดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน แผนโครงการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 ถึง พ.ศ. 2567 ส่วนโครงการอีก 3 ระยะที่เหลืออยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ระยะที่ 1 มีแผนปฏิบัติงานประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว ถึงแก้มลิงสระเทวดา ยาว 8.45 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยประตูระบายน้ำ 3 แห่ง การขุดขยายคลองเชื่อมลำปะทาว-ห้วยดินแดง ยาว 1.33 กิโลเมตร และปรับปรุงคลองเดิมให้ระบายน้ำได้ 50 ลบ.ม./วินาที พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง และสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบในลำน้ำเดิมอีก 6 แห่ง หากโครงการทั้ง 4 ระยะแล้วเสร็จทั้งหมดจะบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้มาก โครงการระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ คือตำบลบ้านเล่า
ตำบลโพนทอง ตำบลกุดตุ้ม ตำบลบุ่งคล้า และตำบลหนองไผ่ การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 25 มีแผนงานที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 4 แห่ง คือ ปตร.กุดสวง, ปตร.ห้วยเสียว, งานพนังกั้นน้ำกุดสวง-ห้วยเสียว และปตร.ห้วยดินแดง หากโครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จทั้งหมดนอกจากจะบรรเทาน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิแล้ว ยังจะส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้อีก 18,610 ไร่ ในฤดูแล้งอีก 1,850 ไร่ และลดพื้นที่ทางทิศใต้ของตัวเมืองชัยภูมิที่จะเสียหายได้จากน้ำท่วมได้อีกปีละกว่า 2 หมื่นไร่