กทม. เตรียมประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ยกระดับการช่วยเหลือประชาชน คาด ลาดกระบัง หากฝนไม่ตกเพิ่ม ไม่เกิน 7 วัน น้ำลด
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.เวลา 10.30 น. ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
ด้วยฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 7 กันยายน 2565 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 13 กันยายน 2565 ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเขตฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ เขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำในถนนสายหลัก ถนนสายรอง และซอยย่อยในพื้นที่ ลงสู่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองรางอ้อ รางแก้ว คลองไผ่เขียว คลองหลุมไผ่ ในส่วนพื้นที่กรุงเทพด้านตะวันออก เขตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง อาทิ เขตลาดกระบัง ประเวศ หนองจอก การระบายน้ำจะแบ่งออกเป็น ด้านตะวันออกโดยสถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ และสถานีสูบน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ผ่านพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงสู่แม่น้ำบางปะกง ด้านใต้จะระบายออกผ่านจังหวัดสมุทรปราการตามแนวคลองลาดกระบัง คลองหนองงูเห่า คลองจรเข้ใหญ่ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานออกสู่อ่าวไทย และบางส่วนจะระบายเข้าสู่พื้นที่ กทม.ชั้นใน ผ่านคลองแสนแสบเข้าสู่อุโมงค์พระรามเก้า และคลองประเวศบุรีรมย์ต่อเนื่องคลองพระโขนง เข้าสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ มีปริมาณน้ำในพื้นที่มากเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้การระบายน้ำจากพื้นที่ กทม.ออกไปทางด้านตะวันออกและด้านใต้ทำได้น้อย เพราะพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการก็มีระดับน้ำสูงเช่นกัน การระบายน้ำออกไปจะส่งผลกระทบกับประชาชนในจังหวัดข้างเคียง กทม.จึงจำเป็นต้องลำเลียงน้ำเข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นในผ่านคลองแสนแสบและคลองพระโขนง ซึ่งมีระยะทางไกลและทั้งสองคลองยังต้องระบายน้ำในพื้นที่ กทม.ชั้นในด้วย ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่ตะวันออกนอกคันกั้นน้ำพระราชดำริต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำ ขณะนี้มีการประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งสูบน้ำผ่านทางด้านตะวันออกและด้านใต้โดยสถานีสูบน้ำของกรมชลประทาน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนตกในพื้นที่ กทม.เกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตบางเขน น้ำสูงสุดที่คลองเปรมประชากร 1.56 เมตร ปัจจุบันเหลือ 1 เมตรแล้ว ขณะนี้ในเขตบางเขนตามซอยต่างๆ ลดลงเกือบหมดแล้วเช่นกัน คาดว่าถ้าฝนไม่ตกอีก 2-3วัน จะเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนที่ 2 คือ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ เขตหนองจอก สถานการณ์น้ำลดลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น และเมื่อวานนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายขัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เขตหนองจอก และทำให้เห็นว่าระดับน้ำเริ่มลดระดับ และผู้ว่าฯ กทม. ได้ขอให้ กอนช. ทำทางด่วนน้ำ ตัดไปออกแปดริ้ว รวมถึงได้ตัดสินใจเปิดประตูน้ำลาดกระบัง และกระทุ่มเสือปลา ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าไม่เกิน 7 วัน ถ้าฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำจะลดลงทั้งหมดสถานการณ์น้ำบริเวณรอบนอกน่าจะดีขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือผ่านบางไทร ยังอยู่ในระดับที่รับได้ ทำให้ไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล ซึ่งพื้นที่ฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 เขต ได้ให้สำนักเขตที่มีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมเฝ้าระวังไว้ก่อน
ด้าน รองผู้ว่าฯ ทวิดาได้กล่าวในส่วนของการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยระบุว่ากรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน แจกจ่ายสำเร็จรูปพร้อมทาน ถุงยังชีพ การให้ความช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง แจกชุดยาทาน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้าน จัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัย ติดตั้งห้องน้ำชั่วคราว จัดทำทางเดินสะพานไม้ และทางเดินกระสอบทรายเข้าชุมชน แจกจ่ายอุปกรณ์ เช่น รองเท้าบูท กระสอบทราย นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ณ สำนักงานเขตในพื้นที่ เพื่อร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเตรียมออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะเป็นการประกาศเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายและระเบียบที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2536 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 , (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 โดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้ 1. น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลัน ทำให้โครงสร้างบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 2. บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และโครงสร้างบ้านได้รับความเสียหายไม่สามารถพักอาศัยได้ 3. ต้องเป็นบ้านพักที่อยู่อาศัยประจำ และต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ทางสำนักงานเขตออกให้เป็นหลักฐาน ได้แก่ 1. บ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน 2. บ้านเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ ในกรณีที่บ้านพักอาศัย/บ้านเช่ามีหลายชั้น ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเฉพาะชั้นที่มีน้ำท่วมถึงเท่านั้น และ 3. ที่อยู่อาศัยอื่นๆ ของประสบภัย เช่น บ้านพักอาศัยอยู่เป็นประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา กทม.พยายามปรับให้มีศูนย์กลางของข้อมูล เมื่อเขตทราบข้อมูลว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ หน่วยทุกหน่วยของกทม.จะออกไปเตรียมพร้อมก่อน และได้ให้การช่วยเหลือต่างๆ ทั้งการอำนวยความสะดวกประชาชน การประสานด้านการจราจร และการเดินทางของประชาชน รวมถึงมีการทำสุขาชั่วคราว การทำถุงยังชีพ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้สำนักงานเขตกำลังทำข้อมูลทั้งหมด เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการประกาศพื้นที่สาธารณภัยเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า ไม่ได้ประกาศพื้นที่สาธารณภัย เพื่อให้เกิดความวิตกกังวล แต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของกทม.ในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเดิม กทม.สามารถเยียวยาตามเกณฑ์ได้ แต่การประสานขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประกาศเขตภัยพิบัตินั้น แม้จะได้รับการเยียวยา แต่ต้องไม่ซ้ำประเภทกัน ส่วนกรณีที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เขตลาดกระบังเมื่อวานนี้ ช่วยทำให้การประสานงานเร็วขึ้นด้วยหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าการประสานงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่การมาของ มท.1 เพื่อให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ส่วนเกณฑ์เยียวยาไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นแต่มีอยู่เดิมมาก่อนแล้ว และก่อนหน้านี้ใช้ทรัพยากรของ กทม.เป็นหลัก
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จะประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย ทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และแขวงลำปลาทิว มีประชาชนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 10,300 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 20,767คน รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,322ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 800 ไร่ สวนผักและผลไม้ 22 ไร่ และบ่อปลาอีก 500 ไร่
ด้าน นายเอกวรัญญู กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กทม.โดนวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร จึงต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงกรณีพื้นที่เขตลาดกระบัง กทม.ได้ดูแลมาตลอดไม่ใช่เราไม่ได้ดูแลเลย และยืนยันว่าจะหาทุกช่องทางช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด และให้ความมั่นใจว่า กทม.ไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน