ส.ส.ก้าวไกล ชงหั่นงบ กอ.รมน. หลังคุ้ยเจอซุกเงินค่าตอบแทนพิเศษ หวั่นจ่ายให้บุคลากรผี แนะรื้อแผนงานแก้ไฟใต้ หนุนคนพื้นที่เจรจากันเอง พร้อมเสนอแนะ “รัฐบาล” รื้อคดีตากใบ เป็นคดีพิเศษ หลังอีก 10 เดือนจะหมดอายุความ
วันนี้ (4 ม.ค.) นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรก ถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนหนึ่งว่า นับจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 พบว่า สถานการณ์ความไม่สงบจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นแล้วกว่า 22,296 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 2 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน ทั้งนี้ พบว่า รัฐใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหากว่า 5.4 แสนล้านบาท โดยในงบประมาณ 2567 พบการเสนอของบรวม 2.5 หมื่น ซึ่งกำหนดโครงการไว้ในแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.5% โดยส่วนตัวมมองว่างบฯ ดังกล่าวสามารถปรับลดได้ ถึง 1,032 ล้านบาท
“เป้าหมายแผนบูรณาการดับไฟใต้เพื่อความสงบเรียบร้อยและราบคาบ แต่ผมมองว่า ไม่พอ เพราะเป็นสันติภาพเชิงลบ ดังนั้นต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก ได้แก่ ความยุติธรรม เพราะเงื่อนไขคนต่อต้านก่อกบฏเพราะคนไม่รับความเป็นธรรม ต้องคุ้มครองสันติภาพ แก้ไขกฎหมาย แต่การจัดงบของรัฐบาลทำให้เกิดสันติภาพเชิงลบและเชิงลดเท่านั้น” นายรอมฎอน อภิปราย
นายรอมฎอน อภิปรายด้วยว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ ซึ่งกำหนดไว้นอกแผนบูรณาการ 3 ใน 4 อยู่ใน กอ.รมน. รวมกว่า 5,000 ล้านบาท เช่น งบการกำลังพลและการดำเนินงานของ กอ.รมน. วงเงิน 3,535 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรผี ที่มีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้แต่ไม่ได้ทำงานจริง ถือเป็นงบหล่อเลี้ยงกำลังพลที่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่ ดังนั้น ของ กอ.รมน. ชี้แจงว่ามีคนทำงานจริงเท่าไร หรือเเป็นเพียงงบที่ใช้หากินเท่านั้น
“ผมขอตั้งคำถามไปยัง กอ.รมน.รับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง ทำให้จำเป็นต้องมีภัยคุกคามเพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ หากทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กอ.รมน.ต้องสกัดขัดขวางเพื่อไม่ให้การแสวงหาทางออกทางการเมืองเป็นไปได้” นายรอมฎอน อภิปราย
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ในส่วนของ กอ.รมน. พบว่า มีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 52 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 1,527 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนในพื้นที่ดำเนินการในส่วนดังกล่าว ทั้งนี้ตนมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่มีนโยบายด้านยุติธรรม ให้ฟื้นคดีตากใบ ที่อีก 10 เดือนจะหมดอายุความ โดยให้ริเริ่มเป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงให้นายกฯ กำชับไปยัง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ยุติการฟ้องปิดปากเพื่อให้การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมือง เจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงปรับลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนของ กอ.รมน.