เมืองไทย 360 องศา
ช่วงนี้หากสังเกตอาการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไม่ค่อยคึกคักเหมือนตอนแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ตอนนั้นนอกจากประกาศทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันพัก แต่พอมาถึงวันนี้กลับเหมือนมีอาการ “ช็อต” ไปดื้อๆ เริ่มตั้งแต่ลาพักร้อนตั้งแต่วันที่ 19-22 ธันวาคม ซึ่งหากไม่พิจารณากันถึงเรื่องอื่นๆ เอาแค่ว่าบุคลิกที่แสดงออกให้เห็นแบบ “บ้างาน” มันก็ถือว่าผิดวิสัยแล้ว
นอกเหนือจากว่า การ “ลาพักร้อน” ดังกล่าว น่าจะมีสาเหตุสำคัญบางอย่าง ซึ่งหลายคนมองออกว่ามีเจตนาเลี่ยงการรับรู้การรับรายงาน ในฐานะนายกรัฐมนตรีจาก กรมราชทัณฑ์ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขึ้นมาตามลำดับ กรณีหากมีการปล่อยตัว หรือการส่งนายทักษิณ ชินวัตร ไปคุมขังนอกสถานที่ ซึ่งอาจเป็นบ้านพักจันทร์ส่องหล้า ที่สังคมกำลังจ้องมองกันไปทางนั้นอยู่ตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาจะเห็นการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกของนายทักษิณ ที่สังคมเข้าใจว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งน.ส.แพทองธาร ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯอันดับหนึ่ง ของพรรคอีกด้วย
การเข้ามามีบทบาทของ“อุ๊งอิ๊ง” ที่ไม่ต่างจาก “นายกฯเงา” มันก็ยิ่งเบียดบังความโดดเด่นของนายเศรษฐา เพราะตามรายงานยังระบุอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคเพื่อไทย ภายในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับเธอมากกว่าจนแทบจะเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการไปแล้ว จนทำให้มีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่นานเธอก็น่าจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัว โดยหลายคนมองว่า น่าจะเป็นช่วงหลังเดือนพฤษภาคมปีหน้าไปแล้ว หลังจากที่ส.ว.หมดวาระ และไม่มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องรอประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นอีกทีว่า เหมาะสมหรือไม่
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาจนทำให้ นายเศรษฐา มีลักษณะอาการฝ่อลง นั่นคือ ผลจาก “นโยบายเรือธง” ที่ยังไปไม่ถึงไหน นั่นคือ โครงการที่เรียกว่านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหนึ่งหมื่นบาท ที่จนถึงเวลานี้ยังไปไม่ถึงไหน ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจต้องจบลงไปในที่สุด เพราะจากคำพูดล่าสุดของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ถือว่าเป็นแม่งานหลักของโครงการนี้ เพิ่งเปิดเผยเมื่อสองสามวันก่อนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา จะตอบคำถามที่สอบถามไปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวภายในต้นปีหน้า แม้ว่าเขายังยืนยันว่ายังทันกรอบเวลาที่กำหนดแจกเงินเอาไว้ภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้าก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามระยะเวลา และขั้นตอนการดำเนินการแล้วมันยากมาก
นอกเหนือจากนี้ จากความเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็แทบไม่มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลระดับชาติที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังจากมีการประชุมครั้งแรกครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่มีการเรียกประชุมกันอีกเลย เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน และถือเป็นแม่งานก็ไม่เคยเรียกประชุม หรือรายงานความคืบหน้าแต่อย่างใด ทุกอย่างจึง “เงียบสนิท” แทบทุกคนจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามเรื่องนี้
ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ตนได้พูดคุยกับทางกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยกฤษฎีกา จะส่งกลับมาในช่วงต้นปี 67 ว่าทำได้ หรือไม่ได้
ถามว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งคำตอบมาในช่วงต้นปีจะทำให้โครงการดิจิตทัลวอลเล็ตล่าช้าออกไปกว่ากรอบระยะเวลาที่วางไว้ ช่วงเดือนพฤษภาคม 67 หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ไม่ๆ กระบวนการนี้ เป็นกระบวนการที่เราไม่ได้เร่งรัด เพราะต้องให้กฤษฎีกาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเรื่องนี้ไม่ได้มีการพูดกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เป็นการพูดคุยส่วนตัว ยืนยันว่า โครงการดิจิทัลวอลเลต ยังอยู่ในกรอบเวลาเดิมคือช่วงเดือน พฤษภาคม 67”
ขณะเดียวกันอีกเรื่องที่น่าจะทำให้ นายเศรษฐา รู้สึกเสียรังวัดไปไม่น้อย กับผลการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม มีมติยืนตามมติเดิม นั่นคือ ยังยืนยันปรับค่าแรงเพิ่ม 2-16 บาทต่อวัน
การแถลงของ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ต้องขอชื่นชม คณะกรรมการค่าจ้างหรือ ไตรภาคีโดยเฉพาะกรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ยอมให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงโดยหลังจากที่มีการถอนวาระออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 ธันวาคม 66 ทั้งที่เป็นวาระเพื่อทราบ เพราะคณะกรรมการไตรภาคี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้ว แต่การประชุมรอบ 2 ยังคงยืนยันมติเดิม โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 2-16 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 2.37% ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศโดย จังหวัดภูเก็ตปรับสูงสุดเป็น 370 บาท/วัน หรือขึ้น 16 บาท/วัน ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ขึ้น 2 บาท/วัน เป็น 330 บาท/วัน เป็นต้น
“การประชุมไตรภาคีครั้งที่ 2 วันที่ 20 ธันวาคม ยืนยันค่าจ้างอัตราเดิมตามที่เคยมีมติไปแล้วเมื่อ 8 ธันวาคม ซึ่งสวนทางกับความต้องการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทบทวนค่าจ้างใหม่ ซึ่งออกมาต่างจากการหาเสียงไว้ ประเด็นนี้ถือเป็นการยึดมั่นในหลักการของคณะกรรมการไตรภาคี โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐาน” นายธนิต กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมมีการชงเรื่องความเห็นของรัฐมนตรี และนำสูตรที่ใช้ในการคำนวณค่าจ้างซึ่งทางฝ่ายรัฐได้จัดทำขึ้นมาใหม่ อาจทำให้ค่าจ้างสูงขึ้น เช่น กทม.ปรับขึ้นจาก 10 บาท/วัน เป็น 26 บาท/วัน แต่ละจังหวัดก็จะปรับขึ้นในสัดส่วนดังกล่าวแต่ที่กรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเห็นว่าตัวเลขไม่มีที่มาและที่ไป จึงไม่ยอมกับสูตรใหม่นี้ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบปรับสูตรค่าจ้างใหม่ เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรค่าจ้างอัตราใหม่ แต่จะไม่มีผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในปี 2567
“ไตรภาคีภาคเอกชนและแรงงานเห็นตรงกันว่า ค่าจ้างที่สูงตามการหาเสียงของพรรคการเมือง หากมีการปรับจะกระทบต่อการลงทุน สถานประกอบการ ทั้งภาคการผลิต และบริการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง และย่อม (SME) จะอยู่ยาก เพราะสภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบางในปีหน้าที่แนวโน้มการทำงานไม่เต็มเวลาหรือการปิดกิจการจะสูงขึ้น” นายธนิตกล่าว
หากพิจารณาตั้งแต่ต้นจะเห็นว่า แต่ละเรื่อง แต่ละดอก น่าจะมีส่วนในการทำลายความมั่นใจของ นายเศรษฐา ทวีสิน ลงไปไม่น้อย เพราะหลายเรื่องทำไม่ได้ตามที่พูด หรือว่าหาเสียงเอาไว้ เช่น นโยบาย “เรือธง” อย่างเงินดิจิทัล ที่มองตามรูปการณ์แล้วถือว่า ล่าช้าอืดอาด เหมือนกับยังหาทางออกไม่ได้ โดยเฉพาะที่มาของเงิน และเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายวินัยการคลัง หรือแม้กระทั่งกรณี “ขึ้นค่าแรง” ที่ยังเป็นมติเดิม แม้ว่าที่ผ่านมานายกฯ พยายามสร้างอารมณ์ร่วม ทำนองว่า ปรับขึ้นน้อยกว่าราคาไข่ 1 ฟอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว “นายกฯ สั่งไม่ได้”
ดังนั้น หากพิจารณาจากหลายปัญหาที่ประดังเข้ามาในเวลานี้ หลายเรื่องเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้นแล้วว่ามัน “ไม่ตรงปก” ทำไม่ได้ตามที่หาเสียงเอาไว้ แต่นั่นไม่เท่ากับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า “ตัวจริง” กำลังจะมาทวงเก้าอี้นายกฯ คืนไปในช่วงหลังปีใหม่ หรือหลังเดือนพฤษภาคม แต่ขณะเดียวกันกรณีการลาพักร้อน ตั้งแต่วันที่ 19-22 ธันวาคม ที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับข่าวคราวที่ว่า “ทักษิณจะกลับบ้าน” จึงเป็นสัญญาณแปลกๆ ที่ไม่ต้องการับรู้ เหมือนกับว่าไม่อยากเสี่ยงในช่วงจะลงจากเก้าอี้หรือเปล่า !!