xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แหกไตรภาคี รื้อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ไฟต์บังคับ “เพื่อไทย” ต้องทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ต้องนับว่า “นายกฯนิด” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความกล้าหาญทางการเมืองไม่น้อยในการแหกมติคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบที่ว่านายกฯ “รับบ่ได้” แค่ซื้อไข่ไก่ฟองหนึ่งยังไม่ได้เลย 

ตามหลักเกณฑ์ที่ปฏิบัติกันมา การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะผ่านกระบวนการพิจารณาในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีองค์ประกอบตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จากระดับจังหวัดขึ้นมาสู่ส่วนกลาง โดยสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี มีเงื่อนไขพิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราค่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี เมื่อคณะกรรมการไตรภาคี เห็นพ้องต้องกันแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อ  “รับทราบ”  และนำสู่การปฏิบัติ

อันที่จริง กลไกคณะกรรมการไตรภาคีนี้ ที่ผ่านมาฝ่าย  “ตัวแทนแรงงาน”  ที่เป็นฝ่ายผู้ใช้แรงงานตัวจริง ต่างร่ำร้องมาตลอดว่าการลงมติส่วนใหญ่ฝ่ายแรงงานสู้เสียงของฝ่ายนายจ้างที่ผนึกกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอย่างเหนียวแน่นไม่ได้ กลายเป็นสองต่อหนึ่งอยู่เรื่อยมา เพราะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล เห็นใจนายจ้างเป็นที่ตั้งด้วยว่าต้นทุนธุรกิจจะสูงขึ้นหากปรับขึ้นค่าแรงตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำที่ฝ่ายลูกจ้างร้องขอก็ไม่ได้มากมายอะไรขอเพียงแค่ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล คือ ค่าแรงขั้นต่ำ สามารถเลี้ยงดูครอบครัว 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ได้แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องแค่ตัวแรงงานปากเดียวก็ยังไม่พอยาใส้อย่างที่เป็นอยู่ เสียงขู่ของฝ่ายนายจ้างถ้าขึ้นค่าแรงมากไปก็จะเลิกจ้าง หันไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน วนกันอยู่เช่นนี้ ใครที่อยากได้ค่าแรงมาก อยากสร้างเนื้อสร้างตัวก็กระเสือกกระสนไปหางานทำต่างบ้านต่างเมือง เคราะห์ร้ายเกิดภัยสงครามสู้รบกันอย่างอิสรเอล-ฮามาส ก็แบกหนี้หนีตายกลับมาอย่างที่เห็น

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคี มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตราวันละ 2-16 บาท หรือขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.37 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จังหวัดที่ได้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 370 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับการปรับต่ำสุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 330 บาท

ส่วนกรุงเทพมหานคร กับอีก 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร ขึ้นมาเป็นจังหวัดละ 363 บาท หรือเป็นกลุ่มจังหวัดอันดับสองรองจากจังหวัดภูเก็ต ส่วนกลุ่มจังหวัดอันดับ 3 ที่ได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 361 บาท ได้แก่ ชลบุรี และระยอง

 มติของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ว่ากันว่าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ที่ประชุม ครม.ก็เพียงแค่ “รับทราบ” เท่านั้น เป็นอันจบสิ้นกระบวนความ ขึ้นศักราชใหม่ 2567 ก็ยึดถืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามเกณฑ์ที่ออกมา แต่ว่า “ครม.เศรษฐา ทวีสิน” ไม่ยินดีที่จะให้เป็นเช่นนั้น โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ขอให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หอบการบ้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลับไปทำมาใหม่  

  “ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน ก็ต้องฟังเขาก่อนเพราะมีข้อกฎหมายหลาย ๆ อย่าง ที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้” นายเศรษฐา ตอบคำถามหวังให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เท่าไหร่ และคาดว่ากระทรวงแรงงาน จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้งไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2566 น่าจะเอาเข้ามาทัน 

มีคำอธิบายเบื้องหลังขอถอนเรื่องปรับค่าแรงขั้นต่ำกลับไปพิจารณาใหม่จาก  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงหลังประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำมติคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท มาเสนอให้ ครม.รับทราบ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้างเอาตัวเลขต่าง ๆ ย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ยกันนั้น เป็นการนำตัวเลขปี 2563-2564 มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ติดลบมาก ๆ เพราะโควิด-19 การนำตัวเลข 2 ปีนี้มาคำนวณด้วยทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง จึงน่าจะนำกลับออกไปพิจารณาใหม่ ครม.แสดงความเห็นด้วยในข้อสังเกตนั้น และ ครม.ได้ถาม รมว.แรงงานว่าจะยืนยันเสนอให้ครม.รับทราบหรือไม่ นายพิพัฒน์ จึงขอถอนไปก่อน เท่ากับ ครม.ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

“เน้นย้ำนะครับ การถอนออกไปเกิดจากข้อสังเกตของ รมว.แรงงาน ครม.ไม่มีอำนาจไปสั่งการให้คณะกรรมการค่าจ้างทบทวนอะไรทั้งสิ้น รมว.แรงงาน มีหน้าที่นำมติของคณะกรรมการค่าจ้างมารายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ แต่ท่านได้ขอถอนไปด้วยข้อสังเกตดังกล่าว จึงต้องรอดูต่อไปว่าการนำข้อสรุปคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจะนำมาเสนออีกครั้งเมื่อไหร่ ส่วนจะทบทวนหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจของ ครม. เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไปว่ากัน” นายชัย กล่าวและว่าเหตุผลของ รมว.แรงงานดีเยี่ยม ทุกคนเห็นด้วยหมด นายกฯ ไม่ได้พูดอะไรเลยในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่นายเศรษฐา กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ทุกคนทราบดีว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป อย่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับขึ้นเพียง 2 บาท ไข่ไก่หนึ่งฟองจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ ฟังดูแล้วมันรับไม่ได้ ลึกกว่านั้นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมและความแตกแยก จะอ้างเรื่องมติคณะกรรมการไตรภาคี หรือนายกฯไม่มีอำนาจแทรกแซง คุณจะพูดอะไรคุณพูดได้หมด แต่เราอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงดีกว่าว่ามันเหมาะสมหรือเปล่า ที่ค่าแรงขึ้นไปขนาดนั้น จะทำให้ธุรกิจถึงกับหายนะหรือไม่ หากขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของตน การลดค่าใช้จ่าย ลดค่าไฟ การเปิดตลาดใหม่ ๆ การเจรจาสนธิสัญญาการค้าและดึงนักลงทุนใหม่เข้ามา เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งจะเป็นที่พอใจของภาคธุรกิจ เป็นขวัญและกำลังใจ คืนความชอบธรรมให้ประชาชนฐานราก ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนเรื่องกฎหมายนายกฯ มีสิทธิแทรกแซงหรือไม่มีสิทธิเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ไปดูแล้วกันขึ้นค่าแรง 300 บาทมา 9 ปีที่แล้ว วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 337 บาท 10 ปีให้หลังขึ้นมาแค่ 37 บาท หรือขึ้นไปประมาณ 12% ถ้าลูกท่านจบจากเมืองนอก 10 ปีที่แล้วเงินเดือน 30,000 บาท ถ้าทุกวันนี้เงินเดือน 33,700 บาท รับได้หรือไม่ บางจังหวัดขึ้น 2 บาท บางโซนขึ้น 7 บาท 5 บาท หลายท่านเป็นรัฐมนตรีมาจากภาคประชาชนและการเลือกตั้งรับได้ไหมค่าแรงขึ้นแบบนี้ ความหวังฝากไปยังภาคธุรกิจว่าการขึ้นค่าแรงเพิ่มไปอีกนิดนึง ไม่ทำให้ท่านเกิดหายนะหรอก แต่จะส่งผลมิติบวกมากกว่า พูดคุยกันด้วยวาจาที่รับกันได้ในจำนวนเงินที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ ขอให้ภาคเอกชนดูแลประชาชนให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรี เดินออกไปทำงานตอนเช้าแล้วกลับบ้านมาตอนเย็น มีอาหารการกินเหมาะสมอยู่บนโต๊ะ ฝากด้วยแล้วกัน

เมื่อถามถึงเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาท จะเริ่มได้เมื่อไหร่และมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เรื่องเงินเดือนขั้นต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท มาหลายปีแล้ว เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ ประกาศไปชัดเจนว่าจะขึ้นอย่างไร คาดหวังภายใน 4 ปีจะขึ้นไปถึง 25,000 บาท ถือว่าพอประกาศออกไป ได้รับการยอมรับที่ดีพอสมควร เป็นมาตรฐานที่ดีที่ภาคเอกชนจะนำไปปฏิบัติ และขึ้นค่าจ้างให้คนไทย มีรายได้ที่เหมาะสม มีศักดิ์ศรีในการที่จะไปทำงาน

 ต้องไม่ลืมว่า การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำไว้สูงถึง 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายไว้ที่วันละ 400 บาท โดยเร็วที่สุด 

อย่างไรก็ดี หลังมีการถอนเรื่องออกมา  นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำมติคณะกรรมการไตรภาคีหรือบอร์ดค่าจ้าง กลับมาพิจารณาใหม่ โดยจะปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างใหม่ เนื่องจากในปี 2563-2564 ซึ่งนำมาคำนวณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี เป็นช่วงที่สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาด การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ กลายเป็นตัวถ่วงในการพิจารณาตามสูตรค่าจ้าง จึงต้องปรับสูตรใหม่ แต่ไม่ต้องกลับไปพิจารณาเป็นรายจังหวัดเหมือนเดิม ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ บอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่สามารถพิจารณาได้เลย จะไม่ช้า และสามารถนำเข้า ครม.ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

 นายธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า มติการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้เป็นเอกฉันท์ การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง ในช่วงเกือบ 40 ปีไม่เคยมีรัฐบาลสั่งการบอร์ดค่าจ้างให้ทบทวน ก็ต้องเข้าใจนะถ้ารัฐบาลชุดนี้ทบทวนก็ต้องไปถามว่าในอดีตทำไมรัฐบาลในอดีตมันห่วยหมดเลยเหรอประเทศไทย ไม่เคยมี อันนี้ตนเองก็ได้ข้อมูลมาจากฝ่ายลูกจ้างที่อยู่ในบอร์ดค่าจ้าง

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละครั้ง คณะกรรมการค่าจ้างมีวิธีการคิดคำนวณกำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 โดยมีอนุจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด มีตัวแทนจากทุกฝ่ายทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล หรือเรียกว่าไตรภาคี พิจารณาร่วมกัน โดยนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการขึ้นค่าแรง เช่น อัตราสมทบแรงงาน ผลิตภาพแรงงาน GDP การเติบโตของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ไม่ใช่ว่าอยากจะขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องทำตามกรอบกฎหมาย และไม่เคยมีรัฐบาลไหนสั่งการทบทวนมติบอร์ดค่าจ้างมาก่อน

ฟังน้ำเสียงจากตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง  นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า หลักการปฏิบัติในการขึ้นอัตราค่าจ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ทำแบบนี้ ทุกครั้งที่บอร์ดค่าจ้างมีมติออกไปก็ต้องอนุมัติไปตามนั้น เว้นเสียแต่ว่าปีไหนเศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะมีการปรับค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้มติบอร์ดค่าจ้างถูกตีกลับเอามาทบทวนใหม่ ต้องถามว่ากฎหมายรองรับหรือไม่ ประเด็นที่จะพิจารณาใหม่หรือจะไม่พิจารณาไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจแทรกแซงแบบนี้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายบอกว่าทำได้ก็จบไปทำต่อไปได้เลยเพราะลูกจ้างชอบอยู่แล้ว แต่ถ้ากฎหมายไม่รองรับ ก็ไม่มีใครกล้าทำผิด รัฐบาลต้องอย่าลืมว่ามีกฎหมายมาตรา 157 ค้ำคออยู่  
กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้แล้วว่าเป็นอำนาจของบอร์ดในการกำหนดอัตราค่าจ้างและเสนอ ครม.เพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ใช่เสนอเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงาน ก็มีฝ่ายกฎหมายดูแลอยู่แล้ว รวมทั้งบอร์ดฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างก็มีฝ่ายกฎหมายเป็นที่ปรึกษาทั้งนั้น 
 
“หากต้องพิจารณาค่าจ้างใหม่ โดยมีการปรับสูตร ตัดเอาปี 2563-2564 ที่เป็น 2 ปีที่เศรษฐกิจแย่ๆ ออกไป ไม่เอามาคำนวณด้วย ก็จะทำให้อัตราค่าจ้างปรับเพิ่มสูงขึ้นมาได้ อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองค่าจ้างจะกำหนดสูตรขึ้นมา ซึ่งในช่วง 2 ปีที่มีโควิดระบาดหนักไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง จึงต้องมีการหารือในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง อาจจะทบทวนเป็นกลุ่มจังหวัด 17 กลุ่ม ที่ปรับค่าจ้างอัตราเดียวกัน ไม่ต้องพิจารณาใหม่เป็นรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะทำให้ใช้เวลาไม่นาน แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่มีกฎหมายรองรับและทำได้หรือไม่มากกว่า” นายวีรสุข กล่าว 
 
ทางด้าน นายสาวิทย์ แก้วหวาน  ประธานสมาพันธ์สมานฉันทร์แรงงานไทย (สสรท.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน จากที่แรงงานเคยเสนอไปเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 712 บาท แต่ก็ไม่เคยได้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่จะทำให้แรงงานดำรงชีพได้ คือ 492 บาท ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงล่าสุดของคณะกรรมไตรภาคี 2-16 บาท ถือว่าน้อยมาก เพราะราคาอาหารมื้อหนึ่ง 60-70 บาท
นายสาวิทย์ ยังเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงแรงงานไปทบทวนใหม่ เพราะเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป สูตรการใช้คำนวณค่าแรงไม่สอดคล้องกับสภาพความจริงในปัจจุบันที่เงินเฟ้อพุ่งสูง ค่าพลังงาน ค่าอาหารต่างปรับตัวสูงกว่าค่าแรงไปล่วงหน้าแล้ว หากได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท หรือ 400 บาท แรงงานส่วนใหญ่รับได้ แต่ค่าแรงในบางพื้นที่อย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรับขึ้น 2 บาท คงไม่มีใครอยากไปทำงาน คนไทยก็ออกไปทำงานที่มาเลเซียที่ได้ค่าแรงสูงกว่าไม่ดีกว่าหรือ

ประธาน สสรท. กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบหรือแรงงานที่ไม่มีหลักประกัน ประมาณ 20-25 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับค่าแรงที่ปรับขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีนายจ้าง ส่วนแรงงานในระบบ เช่น ลูกจ้างรัฐ พนักงานสัญญาจ้าง มีประมาณ 15 ล้านคน คนกลุ่มนี้เงินเดือนหรือค่าจ้างรายวันต่ำมาก ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 6,000-7,000 บาท และอีกกลุ่มคือกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 12 ล้านคน

 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่รัฐบาลมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% ยังไม่เหมาะสมนั้น สรท.มองว่าต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี ในการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีการหารือและวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างรอบด้านแล้ว หากประเทศไทยจะก้าวข้ามปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และขจัดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการกำหนดอัตราที่เหมาะสม ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะปรับเปลี่ยนตัวเองหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิต และลดการพึ่งพิงแรงงานคน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งจะต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบ โดยจ่ายค่าแรงตามระดับของทักษะแรงงาน นอกเหนือไปจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ได้รับอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคีประกาศอยู่แล้ว

ทางด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% โดยอัตราค่าจ้างสูงสุดในบางจังหวัดจะขึ้นไปอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน ถือเป็นต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นอยู่แล้ว หากมีการทบทวนค่าจ้างขึ้นไปที่ 400 บาทต่อวันตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ จะยิ่งกดดันอย่างหนัก ผู้ประกอบการจะอยู่ยาก บั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันไทย เบื้องต้นพบว่า 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.มีแรงงานเข้มข้นถึง 50% หรือประมาณ 23 กลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ ฯลฯ การปรับขึ้นค่าแรงจะยิ่งส่งผลให้การจ้างงานลดลง เพื่อลดภาระต้นทุน และหันไปใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติแทนคนมากขึ้น ไม่ส่งผลดีต่อแรงงานในระยะยาว เพราะจะตกงานเพิ่ม

 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคี (หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) ต่ออัตราเงินเฟ้อ พบว่า กรณีหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 345 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 2.37% จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.13–0.25% ขึ้นอยู่กับการใช้แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม โดยสินค้าที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูง มีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันสูง การปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีน้อย โดยผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านอื่น ๆ แทน การส่งผ่านไปยังเงินเฟ้ออาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ด้วย

 สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น 

ในปี 2567 สนค.ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 อยู่ระหว่างลบ 0.3% ถึง 1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 0.7% โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม แต่มีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคาเนื้อสุกรที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ

 ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ซึ่งผ่านมติคณะกรรมกากรไตรภาคีมาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน โดย “ครม.นายกฯนิด” ไม่ขอเป็นแค่ “ตรายาง” เพียง “รับทราบ” เท่านั้น ถือเป็นมิติใหม่ที่ท้าทายและสร้างบรรทัดฐานใหม่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น