xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกล ชี้ ปัญหารถเมล์ กทม.เหตุรัฐสนแต่รถไฟฟ้า แนะมองเป็นเส้นเลือดฝอยทำงานร่วมกันไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรเชษฐ์” ชี้ ปัญหารถเมล์กรุงเทพฯ เกิดจากรัฐให้ความสำคัญเฉพาะ “รถไฟฟ้า” แนะมอง “รถเมล์” เป็นเส้นเลือดฝอยที่จะฟีดคนเข้ารถไฟฟ้า ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อบนระบบค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท

วันนี้ (10 ธ.ค.) จากกรณีที่พนักงานบริษัทรถประจำทางไฟฟ้ารายใหญ่ในกรุงเทพฯ ประท้วงหยุดวิ่งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เนื่องจากเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเกี่ยวกับระบบกำกับการเดินรถรูปแบบใหม่ของบริษัท รวมถึงเสียงสะท้อนของผู้โดยสารในช่วงที่ผ่านมาถึงปัญหาคุณภาพการให้บริการ ทั้งการขับรถเร็วหวาดเสียว วิ่งเลนขวา ไม่จอดป้ายรับผู้โดยสาร รถขาดระยะนานหลายชั่วโมง รวมถึงเกิดอุบัติเหตุใหญ่หลายครั้งตามที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนเป็นระยะ
.
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อปัญหานี้ ว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่จัดการดูแลรถประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเส้นทางและให้สิทธิ์ในการเดินรถแก่ผู้ให้บริการ โดยในใบอนุญาตประกอบการนั้นมีการกำหนดเส้นทาง มาตรฐานรถที่จะนำมาให้บริการ จำนวนรถที่ต้องมี รวมถึงเที่ยววิ่งขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการต้องทำการเดินรถ แต่ไร้งบประมาณอุดหนุน ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาทางการเงิน ส่งผลให้ปัจจุบันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหลือผู้ให้บริการรถประจำทางเพียง 2 เจ้าใหญ่ คือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า กรมการขนส่งทางบกยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพของรถ การให้บริการ และจำนวนเที่ยววิ่งขั้นต่ำให้ตรงตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตได้
.
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า นี่คือ ปัญหาที่ปรากฏสู่สายตาของผู้โดยสารที่ปลายทาง แต่เบื้องลึกของปัญหาอาจมีมากกว่านั้น โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมการเดินทางของคนคือเดินทางจากจุดต้นทาง (เช่น บ้าน หรือคอนโด) ไปยังจุดปลายทาง (เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน หรือศูนย์การค้า) ไม่ใช่เพียงแค่จากสถานีรถไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่ง เพราะเวลาพูดถึง “ระบบขนส่งสาธารณะ” หลักๆ ในความดูแลของรัฐ ก็คือ “รถไฟฟ้า” และ “รถประจำทาง” และแน่นอนว่า ในบริบทของกรุงเทพฯ ก็ยังมีระบบรองอื่นๆ ด้วย เช่น รถตู้ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรือด่วน เป็นต้น
.
แต่ที่ผ่านมา รัฐราชการของไทยให้ความสำคัญแต่การอุดหนุน “รถไฟฟ้า” ในกรุงเทพฯ (สายละประมาณ 100,000 ล้านบาท) โดยละเลย “รถประจำทาง” (คันละประมาณ 5 ล้านบาท) ซึ่งฐานผู้ใช้มีรายได้น้อยกว่าผู้ใช้รถไฟฟ้ามาก ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง รัฐอุดหนุนเฉลี่ย 147 บาท/คน/เที่ยว และตอนนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะอุดหนุนเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ที่จะทำกับรถไฟฟ้าทุกสาย
.
นายสุรเชษฐ์ ย้ำว่า ตนไม่อยากให้รัฐมองรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานเดียวของกรุงเทพฯ เพราะด้วยบริบทของผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มีทางที่จะสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมไปในทุกที่ได้ โดยนโยบายของพรรคก้าวไกล มองว่า ต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถประจำทางให้เข้ามาเสริมกับรถไฟฟ้า วิ่งสั้นลงแต่ถี่ขึ้น ทำงานร่วมกันเป็นเส้นเลือดฝอยที่รับส่งคนเข้ามาเส้นเลือดใหญ่ ผ่านโครงสร้างการทำงานของระบบค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท ปรับโลกคู่ขนานที่ชนชั้นกลางระดับบนขึ้นรถไฟฟ้า-ผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถประจำทาง มาเป็นโลกเดียวกันที่ระบบรถไฟฟ้าทำงานร่วมกันกับรถประจำทางอย่างไร้รอยต่อ บนโครงสร้างราคาที่สมเหตุสมผล
.
“หากรถเมล์ได้รับการอุดหนุนมากขึ้น ปัญหาการบริหารจัดการรถเมล์ก็จะคลายตัวไปมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหาพนักงานขับรถเพื่อให้บริการที่ดี ปัญหาการควงกะที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ปัญหารถเมล์ห่วย คุณภาพแย่ รถน้อย รอนาน จะหายไป และแน่นอนว่า เมื่อกิจการรถเมล์ได้รับการอุดหนุนที่เพียงพอ ผู้ประกอบการที่อยากเข้ามาในธุรกิจนี้ก็จะมีมากขึ้น การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเป็นธรรมก็จะเกิดขึ้นได้ อันเป็นผลดีต่อประชาชนแน่นอน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น