เปิดองค์ประกอบ "ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ" สนอง "เศรษฐา 1" เป็นวาระแห่งชาติ ดึงคนพื้นที่นั่งกรรมการกว่า 3 แสนคน ทั้งระดับจังหวัด-อำเภอ 955 แห่งทั่วประเทศ ไร้ภาคประชาชนร่วม เฉพาะระดับจังหวัด เน้นข้าราชการฝ่ายปกครอง-นอภ. - ผู้กำกับฯ - ทหาร -อัยการ-แรงงาน-ยุติธรรม" ดึง "ป.ป.ง. - ป.ป.ส - ป.ป.ท." มาครบ ส่วนระดับอำเภอ "878 นอภ." นั่งหัวโต๊ะ ปลัด อภ.-กำนัน -ผญบ./ผช.ผญบ.-สารวัตรกำนัน-แพทย์ตำบล -คณะกรรมการหมู่บ้าน นั่งกรรมการ เน้น ทุกอำเภอ-ตำบล - หมู่บ้าน
วันนี้ (24 พ.ย.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้า ภายหลังมีข้อสั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ - นายอำเภอ - กทม. ตั้ง "ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ" ทั่วประเทศ
และให้สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เป็นสายด่วนแก้หนี้นอกระบบสำหรับประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
รวมถึงลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านแอพลิคชัน ไทยไอดี และ ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หรือเดินทางไปติดต่อลงทะเบียนด้วยตนเอง ต่างจังหวัดที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง กทม.ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
ล่าสุดพบว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 2 ระดับ ที่ ปลัด มท.มีข้อสั่งการให้จัดตั้งขึ้น
คณะแรก เป็น "คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ระดับจังหวัด" มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น "ผู้อำนวยการศูนย์"
มี รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย และ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็น "รองผู้อำนวยการศูนย์"
โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย อัยการจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.) ฝ่ายทหาร หัวหน้าสำนักงานจังหวัด แรงงานจังหวัด ยุติธรรมจังหวัด
ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) (ในจังหวัดถ้ามี) ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) (ในจังหวัดถ้ามี)
ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) (ในจังหวัดถ้ามี) ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) (ในจังหวัดถ้ามี)
นายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง
ขณะที่ ปลัดจังหวัด จ่าจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจะเป็นกรรมการและ ฝ่ายเลขานุการ
โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดำเนินการตามแนวทาง และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย
อำนวยการ ประสาน และบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลการข่าวเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหนี้ เงินกู้นอกระบบ รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เร่งรัด กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ศูนย์ฯ ในระดับอำเภอ
ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาให้ถ้อยดำ เข้าร่วมประชุมชี้แจงเข้าร่วมตรวจสอบสืบสวนข้อเท็จจริง จัดส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเร่งรัด ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามอำนาจหน้าที่
และรายงานผลการปฏิบัติงาน ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกระยะ
คณะที่สอง อยู่ใน ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบอำเภอ จำนวน 878 แห่ง มี "คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ระดับอำเภอ " ซึ่ง นายอำเภอ 878 คน จะนั่งเป็นประธาน มีปลัดอำเภอ (หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง) เป็นรองประธาน
กรรมการประกอบด้วย ปลัดอำเภอ ทุกคน กำนัน ทุกตำบล (7,255 ตำบล) ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ทุกตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้าน มีปลัดอำเภอ งานอำนวยความเป็นธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการชุดนี้ จะปฏิบัติตามนโยบาย จังหวัด กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเข้าไปสำรวจและรับลงทะเบียน "ลูกหนี้นอกระบบในพื้นที่"
เฝ้าระวัง สอดส่องบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ "นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ หรือ การทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้
ให้ดำเนินการแจ้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ยังมีหน้าที่ "ประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ในพื้นที่" ที่ยังมิได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ได้ ณ ที่ทำการปกครองจังหวัด.
ข้อมูลของ กรมการปกครอง ระบุตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ปัจจุบัน มีกำนัน 7,036 คน ผู้ใหญ่บ้าน 67,673 คน แพทย์ประจำตำบล 7,036 คน สารวัตรกำนัน 14,072 คน และ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 195,599 คน รวม 291,326 คน.