xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ-กรมการปกครอง” รวบแก๊งตุ๋นทำบัตร ปชช. ปลอมผ่านออนไลน์ ใช้รูปปลัด มท. แอบอ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ดีเอสไอ ร่วมกรมการปกครอง เปิดปฏิบัติการจับกุมขบวนการหลอกทำบัตร ปชช.ออนไลน์ นำโปรไฟล์ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยสร้างความน่าเชื่อถือ

วันนี้ (22 พ.ย.) เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ พร้อม ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ และ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมแถลงข่าวการจับกุมขบวนการปลอมบัตรประชาชนออนไลน์

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีผู้แทนกรมการปกครอง ได้ประสานข้อมูลผ่านกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ว่าได้ตรวจพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ลงทะเบียนเปิดรับสิทธิทำบัตร” อ้างว่าสามารถทำบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ต้องการบัตรประชาชนไทย แต่ไม่สามารถทำผ่านระบบราชการปกติได้ โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวได้นำรูปของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาแอบอ้างบนหน้าเพจดังกล่าวด้วย และจากการสืบสวนสอบสวนพบกลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์การประกาศโฆษณาให้ทำบัตรประชาชนออนไลน์ (เฟซบุ๊ก) ให้กับบุคคลที่ไม่สามารถทำบัตรประชาชนในระบบปกติของราชการได้ในราคาใบละ 20,000 - 30,000 บาท แต่จะมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการเพิ่มเติม อ้างว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียหายแต่ละรายโดนหลอกลวงไปประมาณ 50,000 - 70,000 บาท สุดท้ายไม่ได้รับบัตรประชาชนฉบับจริงแต่อย่างใด

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมากที่มีลักษณะที่ผิดปกติ ในห้วงระยะวันที่ 1 ม.ค.66 - ปัจจุบัน ยอดเงินหมุนเวียนประมาณ 300 ล้านบาท มีการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ปลายทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อนำเงินออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มที่มีความประสงค์ในการทำบัตรประชาชนปลอม มี 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนต่างด้าวที่อยากได้บัตรประชาชนไทย และ 2. กลุ่มมิจฉาชีพที่หวังจะนำบัตรประชาชนปลอมไปก่ออาชญากรรม เช่น นำไปเช่าซื้อรถยนต์และขายออกต่างประเทศ หรือมีการนำไปเช่ารถในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แล้วเชิดรถหนี หรือนำเอาบัตรประชาชนปลอมไปทำการหลอกลวงตามเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ เช่น การฟอกเงิน หรือเครือข่ายยาเสพติด หรือการก่อการร้ายในรูปแบบของการหลอกลวง

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า ดีเอสไอ ร่วมกับกรมการปกครองในการรวบรวมหลักฐานและขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 4 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายพลกร ผสมทรัพย์ อายุ 38 ปี 2.นายสิปปกร ชวนะศักดิ์ อายุ 43 ปี 3.น.ส.YIN WIN TIN สัญชาติ เมียนมา ในความผิดฐาน “ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิเตอร์อันเป็นเท็จ , ร่วมกันฉ้อโกง ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น/ฉ้อโกงประชาชน และบุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน” ส่วน นายซา นิ อ่อง สัญชาติ เมียนมา อายุ 35 ปี (อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับ) นอกจากนี้ยังตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีบัญชีม้าที่เชื่อมโยงกันถึง 10 บัญชี และมียอดเงินหมุนเวียนทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท และมีผู้เสียหายกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ด้าน นายสมชัย ระบุว่า การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ ต้องแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น และฝากให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาในสื่อออนไลน์ หากพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ กรมการปกครอง สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ขณะที่ ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวว่า สำหรับ 3 ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ส่วนใหญ่หลอกว่าเป็นกรมการปกครอง และยังมีการแอบอ้างเป็นผู้บริหาร ซึ่งมักจะอ้างว่าเรื่องอยู่ระหว่างการประสานติดต่อ บางเรื่องยังไม่มีการอนุมัติ ก็จะแจ้งให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าดำเนินการเป็นทอดๆ พบว่ามีการโอนเงินไปยังบัญชีม้าแถว 3 แถว 4 และมีการแอบกดเงินออกไปก่อนแล้ว หลังจากนี้จึงต้องขยายผลหากลุ่มผู้ครอบครองบัญชีม้าและกลุ่มผู้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับของกลางที่ตรวจยึดได้นั้น อาทิ โทรศัพท์มือถือ สมุดบัญขีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ และแฟลชไดร์ฟ เป็นต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น