xs
xsm
sm
md
lg

“แกล้งโง่ไม่ได้”! “คำ ผกา” ฟาด “ศิริกัญญา” แซะ ขอบคุณพท.ฉีกMOU “ศิริกัญญา-ก้าวไกล” ร่ายยาวเคลียร์ค้าน “เงินดิจิทัล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” หรือ แขก จากแฟ้ม
“คำ ผกา” ฟาด “ศิริกัญญา” จะแกล้งโง่ไม่ได้ แซะ ขอบคุณเพื่อไทยฉีก MOU “ศิริกัญญา-ก้าวไกล” ร่ายยาวเคลียร์จุดยืนค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล หวังจบที่ “คกก.กฤษฎีกา”ตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบทางการเมืองด้วยตัวเอง
 
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(17 พ.ย.66) จากกรณีน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดถึง การที่รัฐบาลเอาไทยไปเปรียบเทียบกับเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้องนั้น

นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” หรือ แขก พิธีกรชื่อดัง ได้ทวีตข้อความ บน X ระบุว่า

“ว้าวมาก ศิริฯ บอกให้เอาไทยไปเทียบกับ เมกา ฝรั่งเศส เพราะเราเป็น upper middle income ประเทศอย่าง เวียดนาม อินโดฯ เป็น ประเทศคนละลีกกับเรา จีดีพีเลยโตมาก … เอิ่ม ประเทศไทยที่จีดีพี 1.9 ไม่ใช่เพราะเราโตจนอิ่มตัวนะคะศิริฯ ศิริฯ จะแกล้งโง่ขนาดนี้ไม่ได้ ขอบคุณเพื่อไทยที่ฉีก mou ค่ะ”

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความหัวข้อ [ เคลียร์ให้ชัด จุดยืนศิริกัญญาและพรรคก้าวไกล ต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ]

เนื้อหาระบุว่า ปัจจุบันสังคมมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อรัฐสภาว่าจะเร่งดำเนินการ

ไม่ว่าจะเป็น ข้อกังวลเรื่องจำนวนและแหล่งที่มาของงบประมาณที่สูงถึง 500,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลเลือกวิธีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ข้อกังวลเรื่องประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้อกังวลเรื่องภาระทางการคลังในระยะยาว กระทั่งคำถามพื้นฐาน ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานการณ์ “วิกฤติ” จนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องถูกกระตุกกระตุ้นด้วยนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท จริงหรือ?

พรรคก้าวไกล และ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ขอแสดงจุดยืนต่อการดำเนินนโยบายนี้ อ้างอิงจากการแถลงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ประเด็นที่พรรคก้าวไกลและศิริกัญญา “เห็นด้วย”

1. เศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างต่ำ ระดับความเหลื่อมล้ำสูง

ไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวช้า แต่จะเรียกว่าเป็นวิกฤติหรือไม่ ตัดสินอย่างไร จำเป็นต้องมีนิยามที่ชัดเจน

เมื่อพิจารณาจาก

- กำลังการผลิต ชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว จาก 61-62% มาเป็น 58-59% เพราะการส่งออกมีปัญหา ความต้องการซื้อ (Demand) ในต่างประเทศลดลง การผลิตเพื่อส่งออกจึงชะลอตัว บวกกับไตรมาสนี้ โรงงานปิโตรเคมีปิดซ่อมบำรุง อัตราการใช้พลังการผลิตจึงลดลง

- การท่องเที่ยวมีปัญหาจริง ตอนรัฐบาลออกวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจากจีนกับคาซัคสถาน ยังมีคำถามว่าจะได้ผลได้อย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจจีนมีปัญหากำลังซื้อที่อ่อนแอลง จำนวนที่นั่งในเที่ยวบินที่นักท่องเที่ยวจีนออกจากประเทศจีน มาประเทศไทยน้อยที่สุด นอกจากปัญหาภายในประเทศจีนแล้ว แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวจีนอีกต่อไป

เรื่องการคาดการณ์เศรษฐกิจ รัฐบาลมักจะคาดการณ์บวกเกินจริงไว้ก่อน เพราะการเติบโตของจีดีพีจะถูกนำมาคำนวนว่าจะเก็บภาษีได้เท่าไร ซึ่งจะบ่งบอกว่าจะใช้งบประมาณได้เท่าไร จะขาดดุลได้เท่าไร จะกู้ได้เท่าไร หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเป็นเท่าไร แต่วันนี้เรากลับได้เห็นรัฐบาลที่บอกว่าเศรษฐกิจแย่จริงๆ

รัฐบาลไม่ต้องเชื่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็ได้ ไม่ต้องเชื่อธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ ทางทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าเป็นอย่างไร? การตั้งเป้าหมายที่ 5% สมเหตุสมผลหรือไม่ ศักยภาพในการเติบโตสูงสุดของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 3% คือการเฆี่ยนลาให้วิ่งเร็วเท่าม้า จะถึงเป้าที่อยากได้โดยไม่ดูพื้นฐานเลย เป็นไปได้หรือ ถ้าจะแก้ไขศักยภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม การเติบโตของประชากร การเพิ่มเงินทุน ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วผ่านการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นภายในไตรมาสเดียว

สรุปที่ยังไม่ได้คำตอบ คือใช้ตัวเลขการคาดการณ์จริงหรือใช้ความรู้สึกกันแน่ ไม่ได้เถียงว่าตัวเลข ธปท. หรือสำนักงานสถิติการคลังจะถูกเสมอ แต่รัฐบาลมีตัวเลขอะไรที่บ่งบอกว่าสถานการณ์จะแย่มากๆ โดยใช้วิธีการที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นวิธีการที่ออกแบบว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปให้ถึง 5% จะถูกต้องตรงเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่รู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนที่สุด การท่องเที่ยว การบริโภคจากต่างประเทศ หรือการบริโภคภายในประเทศ

2. พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแข่งขันตามกลไกประชาธิปไตย

พรรคก้าวไกลเห็นว่าการทำให้ประชาธิปไตยเติบโตงอกงาม หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือพรรคการเมืองควรมีสิทธิในการเสนอนโยบายที่เห็นว่าสามารถตอบโจทย์ของประเทศและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

การเสนอนโยบายของพรรคการเมือง คือการแข่งขันตามกลไกประชาธิปไตย โดยมีประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้ตัดสิน สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นนโยบายใดถูกนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง

ดังนั้นแม้พรรคก้าวไกลมีข้อห่วงใยต่อการดำเนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แต่เรายืนยันว่าการนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ควรทำได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นที่พรรคก้าวไกลและศิริกัญญา “ไม่เห็นด้วย”

1. การทำนโยบายสาธารณะโดยไม่เตรียมความพร้อมด้านแหล่งที่มาของงบประมาณ

วันนี้ที่ต้องมาคุยเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็เพราะต้องใช้งบประมาณมากและต้องกู้เงิน รัฐบาลมีโมเดลว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสัดส่วนเท่าไรในการคาดการณ์ หากดึงดิจิทัลวอลเล็ตออกแล้ว จีดีพีจะโตเหลือเท่าไร แต่พอคำตอบของรัฐบาลคือ “ต้องทำรวมๆ กัน” มันถึงจะได้ 5% ถ้าไม่ทำดิจิทัลวอลเล็ตจะโตเหลือแค่นั้นแค่นี้ สรุปแล้วอะไรคือเท่าไรกันแน่

เช่นนี้จะติดตามตรวจสอบประเมินผลงานรัฐบาลอย่างไร หากจุดมุ่งหมายคือ 5% ต้องทำอะไรบ้าง มีปัจจัยที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือไม่เป็นไปตามแผนหรือไม่

การกู้ตาม พ.ร.บ. มีกฎหมายต้องทำตาม มาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคลังอีก 5 ฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 ที่บอกว่ากู้ได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน วิกฤติอย่างต่อเนื่อง และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน ถ้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ ก็อาจไม่ผ่าน

คำถามสำคัญที่รัฐบาลยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน คือหากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีความสำคัญ มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ทำไมวันนี้จึงถูกคิดมาอย่างไม่รอบคอบมากพอ จนเกิดเป็นช่องโหว่ ว่าอาจจะผิดกฎหมายจนสุดท้ายไม่ได้ทำ

หากมีวิธีการที่รัดกุมมากพอ วันนี้คงไม่ต้องมานั่งถกกันแล้วว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านกฤษฎีกา ไม่ต้องลุ้นว่าจะเข้าหรือไม่เข้าศาลรัฐธรรมนูญ หากนโยบายนี้สำคัญจำเป็นเร่งด่วน ก็ควรถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันเพื่อทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย

2.การออก พ.ร.บ.เงินกู้ โดยไม่ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

ปัจจุบันสภาพคล่องทางการเงิน ที่อยู่ในตลาดเงินตลาดทุนมีแนวโน้มลดลงจริง ธปท. หรือกระทรวงการคลังออกพันธบัตรรัฐบาลก็ระดมทุนได้ยาก เพราะสภาพคล่องต่ำจริง แต่วิธีการที่จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ที่จะไประดมทุนในตลาดเดียวกัน จะช่วยในเรื่องสภาพคล่องได้อย่างไร เพราะปีหน้าไม่ใช่แค่รัฐบาลที่ต้องออกพันธบัตรชดเชยการขาดดุล แต่เอกชนก็มีหุ้นกู้ออกใหม่ 1 ล้านล้านบาท ใช้คืนหนี้เก่าอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท จะแย่งกันขนาดนั้นในสภาพคล่องที่หดตัวลง ไม่มั่นใจว่าจะช่วยได้จริงหรือไม่

รัฐบาลมองผลลัพธ์ที่จะได้จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในแง่ดีที่สุด ว่าถ้ากระตุ้นการบริโภคได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น อย่าลืมว่านโยบายนี้ใช้งบประมาณมากที่สด ควรเซฟไว้ในวันที่เกิดวิกฤติจริงๆ หรือไม่ เราจึงต้องมาถามว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะแย่จริงๆ จะแย่อย่างไร ดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้ผลดีขึ้นเป็นเท่าไร

ดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีดีพีเติบโตได้ดี เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พูดเองว่าอาจจะทำให้จีดีพีโต 1-1.5% แต่งบประมาณ 5 แสนล้านบาทคือประมาณ 3% ของจีดีพี จึงต้องถามถึงความคุ้มค่า

ภาพ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากแฟ้ม
เมื่อมาถึงทางสุดท้ายว่าจะต้องกู้เงินแล้ว ก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าคุ้มค่ากับผลลัพธ์จริงหรือไม่ ถ้าจะดีขนาดที่ทำให้จีดีพีกลับมาที่ 5% ได้ ก็ต้องมีข้อมูลตัวเลขมายืนยันให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นก็ควรหาทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องกู้จะดีกว่าหรือไม่ เพราะการกู้ก็มีต้นทุนเช่นเดียวกัน

เรื่องของการหมุน ต้องเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายจึงจะถูกนับอยู่ในจีดีพีได้ ถึงจะหมุนไปได้สามรอบกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีดีพีจะโตเท่ากับ 3

วันนี้ไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าขอดูแผน ระหว่างทางจะหยิบอะไรเข้าหยิบอะไรออกก็บอกกับประชาชน ว่ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอะไรที่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เราต้องตรวจสอบว่ารัฐบาลเลือกวิธีการและเครื่องมือถูกต้องหรือไม่ ว่าที่ไม่ได้ถึง 5% เป็นเพราะดิจิทัลวอลเล็ต หรือเพราะ Winter Festival ไม่ปัง ถ้าเราไม่เห็นว่ารัฐบาลตั้งเป้าไว้แต่แรกเป็นอย่างไร เราจะช่วยติดตามตรวจสอบประเมินผลได้อย่างไร? ขอร้องแค่เปิดเผยให้โปร่งใส

เวลาประเมินว่าประเทศในเวลานี้โตได้แค่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องนั่งเฉยๆ แล้วพอใจกับการเติบโตจีดีพี 3% แต่คือการบอกว่าประเทศต้องการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไข อย่าคิดว่าแค่การกระตุ้นในระยะสั้นแล้วจะโต 5% ควรต้องกลับมาโฟกัสที่การปรับโครงสร้าง พอสมาธิอยู่ที่ดิจิทัลวอลเล็ตมากๆ ก็อาจหลงลืมเรื่องระยะยาวที่จะต้องเริ่มทำวันนี้แต่ออกดอกผลในวันข้างหน้า

ถ้าต้องทุ่มงบประมาณไปกับดิจิทัลวอลเล็ตมากขนาดนี้ แล้วต้องกู้จนกลายมาเป็นภาระทางการคลังในอนาคต กังวลว่าสุดท้ายแล้วทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จะสามารถทำได้อย่างตรงจุดตรงเป้าหรือไม่

ประเด็นที่พรรคก้าวไกลและศิริกัญญา “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

การใช้ศาลและองค์กรอิสระเข้าแทรกแซงกระบวนการทำนโยบายของรัฐบาล

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ช่องทางในการร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้น พรรคก้าวไกลจะไม่ไปร้องอย่างแน่นอน และขอคัดค้านอย่างยิ่ง ไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการดำเนินนโยบายควรเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ควรให้จบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น