xs
xsm
sm
md
lg

คิดให้หนัก! “ดร.มานะ” ยกเคส “หมออ๋อง” เชียร์เบียร์-หมูกระทะ “ผิด กม.-ละเมิดจริยธรรม” ความรับผิดชอบ “ส.ส.” อยู่ไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากแฟ้ม
เรื่องใหญ่ ที่กำลังเงียบหาย! “ดร.มานะ” ยกเคส “หมออ๋อง” เชียร์เบียร์-หมูกระทะ เป็นการทำผิดกฎหมาย และละเมิดจริยธรรม บั่นทอน ทำลายผลพวงการรณรงค์ให้ลดละอบายมุข จึงสะท้อนถามความรับผิดชอบ “ส.ส.”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 ต.ค. 66) ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก “มานะ นิมิตมงคล” เรื่อง “หมออ๋อง” เชียร์เบียร์และเลี้ยงหมูกระทะ

โดยระบุว่า 2 ข่าวดังที่เงียบไปแล้วของ “หมออ๋อง” รองประธานสภาผู้แทนฯ เป็นเรื่องคุยแลกเปลี่ยนได้สนุกในห้องเรียนยุคโซเชียลที่ทุกคนมีข้อมูลและมุมมองของตนเอง ส่วนผมมีข้อมูลและความเห็นดังนี้ครับ

“โพสต์ภาพเชียร์เบียร์” ตามข่าวคือหมออ๋องโพสต์ภาพกระป๋องคราฟต์เบียร์และข้อความประกอบ ต่อมาทาง สสจ. พิษณุโลก ตรวจสอบหลักฐานแล้วพบความผิดเข้าข่ายโฆษณาเบียร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีโทษปรับ 5 หมื่นบาท สาระน่าสนใจคือ พรรคของท่านรองฯ มีนโยบาย “สุราก้าวหน้า” ต่อต้านความไม่เป็นธรรมจากการผูกขาดตลาดและการโฆษณาแบบเจ้าเล่ห์ของพ่อค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งผมเห็นพ้องด้วยกับสองนโยบายนี้

ประเด็นหลักของพฤติกรรมที่เป็นคดี คือ การจงใจฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมการโฆษณา กฎหมายที่มีเจตนาดี ไม่ส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์ แม้มีการโต้เถียงว่ากติกานี้มีการบังคับใช้เป็นธรรมหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่าแนวทางนี้เป็นผลมาจาก “การรณรงค์ของบุคลากรสาธารณสุขและภาคประชาสังคมที่ทำต่อเนื่องยาวนาน”

ดังนั้น นอกจากทำผิดกฎหมายและละเมิดจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว เรื่องที่เราควรใส่ใจร่วมกัน คือ 1. การเชียร์เบียร์ (โฆษณา) เป็นการกระทำที่ขัดแย้ง บั่นทอนหรือทำลายผลพวงการรณรงค์ให้ลดละอบายมุข/สิ่งเสพติดที่วงการแพทย์และภาคประชาสังคมต่อสู้มายาวนาน 2. การเคลื่อนไหวทางการเมือง ควรเคารพกติกาที่ประชาชนร่วมกันสร้างไว้เพื่อความสงบสุขของสังคม

3. หมออ๋อง เป็นนักการเมือง และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้สนับสนุนและติดตามมากมาย สิ่งที่ท่านพูดและกระทำอาจส่งผลให้มีผู้เห็นคล้อยตามและทำเลียนแบบ

ภาพ ดร.มานะ นิมิตมงคล จากแฟ้ม
“เลี้ยงหมูกระทะ แม่บ้านรัฐสภา” .. กรณีนี้หากใช้เงินส่วนตัว ย่อมมีแต่เสียงชื่นชม แต่ “เงินหลวงใช่ว่าจะใช้อย่างไรก็ได้” เพราะมาจากภาษีประชาชนจึงต้องตระหนักและใช้อย่างเหมาะสม โดยหลักการ งบรับรองมีเพื่อ 1) รับรองบุคคลภายนอก 2) เพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ 3) เป็นไปตามระเบียบที่หน่วยงานกำหนดไว้ … แล้วกรณีนี้ถูกผิดอย่างไรหรือไม่?

รัฐสภามีแนวทางใช้งบรับรองของประธานและรองประธาน ว่า “เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเกี่ยวข้องกับการรับรองเพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อเกียรติแห่งรองประธานสภา โดยเบิกจ่ายเท่าที่จ่ายจริง…” (จดหมายกรมบัญชีกลาง ลว. 9 ก.พ. 2553 ถึง สน. เลขาธิการ สภาฯ) เขียนไว้หลวมๆ แค่นี้ สรุปว่า ตามระเบียบราชการ หมออ๋องไม่ผิดอะไร หากไม่ปรากฏระเบียบอื่นที่ต่างออกไปอีก (ปรากฏข่าวในเวลาต่อมาว่า หมออ๋องเปลี่ยนไปใช้เงินส่วนตัวจ่ายแล้ว)

แต่กรณีนี้ยังมีแง่มุมดีๆ เมื่อเกิดคำถามเพื่อให้มีการทบทวนความจำเป็น ความชอบธรรมและความรับผิดชอบในการใช้เงินจากภาษีประชาชนอีกหลายกรณีคล้ายคลึงกัน เช่น 1. มีการตั้งบประมาณทำนองนี้ให้ข้าราชการและนักการเมืองในทุกหน่วยงาน มากแค่ไหนในแต่ละปี มีใครบ้างที่ได้ 2. ยังมีงบที่เรียกชื่ออื่น เช่น งบลับ ค่าเดินทาง ค่าพาหนะ ค่าเดินทาง เงินผดุงเกียรติ ฯลฯ

งบเหล่านี้มีกติกาและการตรวจสอบการใช้อย่างเหมาะสมเพียงใด 3. ท่านชวน หลีกภัย เคยกล่าวถึง “งบลับ” ในสมัยท่านตำแหน่ง รมว.กระทรวงกลาโหม หากเงินเหลือจ่ายตอนสิ้นปี ท่านคืนหลวงไม่เอาเข้ากระเป๋าตัวเองเหมือนคนอื่นที่ทำกันมา เรื่องนี้น่ายกย่อง ว่าแต่ รมว.กลาโหม คนอื่นๆ ปฏิบัติเหมือนท่านอดีตนายกฯ ด้วยหรือเปล่า?

ขอฝากถึงนักการเมืองทุกท่านด้วยข้อคิดที่ผู้รู้กล่าวไว้ว่า..“สมาชิกรัฐสภาคือผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน สามารถออกกฎหมายไปบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ มีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งปวง สิ่งที่ท่านกระทำจึงถูกคาดหวังว่ามีความถูกต้อง ชอบธรรมตามหลักนิติรัฐ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตยิ่งกว่าบุคคลอื่น ดังนั้น การเปิดเผย ตรงไปตรงมาและความรับผิดชอบ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น