พรรคก้าวไกลประกาศเกียรติคุณของตัวเองเอาไว้ว่า เป็นพรรคที่มุ่งมั่นทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ และพยายามแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะเล่นการเมืองอย่างโปร่งใสเหนือกว่าพรรคการเมืองอื่น เป็นการเมืองใหม่ ไม่ใช่การเมืองเก่าที่แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง
แต่ล่าสุดมีคำถามว่าพรรคก้าวไกลจะแตกต่างกับพรรคการเมืองอื่นตรงไหน
พรรคก้าวไกลใช้นิติกรรมอำพรางในการขับหมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากพรรค โดยอ้างว่า หมออ๋องต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ แต่พรรคต้องการเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน จึงต้องมีมติขับหมออ๋องออกจากพรรค เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาฯ ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดและสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ
พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ พรรคก้าวไกลต้องการรักษาตำแหน่งรองประธานสภาฯ เอาไว้ และต้องการตำแหน่งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านด้วยจึงต้องใช้วิธีการดังกล่าว
แต่การทำนิติกรรมอำพรางของพรรคก้าวไกลนั้นถูกต้องตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย เพราะเมื่อไปอ่านข้อบังคับพรรคก้าวไกล หมวดที่ 8 เรื่องมาตรฐานจริยธรรมของพรรคยังไม่พบว่า การกระทำของหมออ๋องนั้นเข้าข่ายความผิดข้อไหนเลย
แถมในแถลงการณ์ของพรรคที่ขับหมออ๋องออกก็ยังเขียนชื่นชมตัวหมออ๋องเอาไว้ ในแถลงการณ์บอกว่า หมออ๋องต้องการเป็นรองประธานสภาฯ เพื่อผลักดันให้สภาฯ มีประสิทธิภาพโปร่งใสและยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้ารวมถึงเพื่อช่วยผลักดันให้กระบวนการตรวจรับอาคารรัฐสภาซึ่งมีสัญญาก่อสร้างมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาทมีความโปร่งใส
พร้อมกับระบุว่า ที่ประชุมร่วมฯ เห็นด้วยว่าภารกิจที่ปดิพัทธ์ตั้งใจขับเคลื่อนจะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภาฯ และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
จากนั้นจึงบอกว่า ที่ประชุมร่วมฯ จึงมีมติว่าในเมื่อปดิพัทธ์ยังคงยืนยันความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาฯ ต่อพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นต้องให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของพรรคก้าวไกลตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ได้อันเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของพรรคหลังจากนี้
พรรคก้าวไกลควรจะช่วยขยายความด้วยว่า หมออ๋องนั้นผิดข้อบังคับข้อไหน พรรคก้าวไกลจึงต้องใช้มาตรการร้ายแรงคือขับออกจากพรรค ถ้าดูข้อบังคับข้อที่ 70 ของพรรคก้าวไกลเขียนว่า ต้องถือประโยชน์ของชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้ออ้างของหมออ๋องตามที่พรรคก้าวไกลแถลงไว้เองก็เป็นข้ออ้างว่าเพื่อจะทำประโยชน์ให้กับประโยชน์ของชาติจึงต้องรักษาตำแหน่งรองประธานสภาฯ เอาไว้ หมออ๋องจึงไม่มีความผิด หากเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมพรรคก้าวไกลไม่สละตำแหน่งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านไปเสียเล่า
หมออ๋องนั้นเกิดทางการเมืองได้ด้วยอาศัยร่วมธงของพรรคก้าวไกล ถ้าเป็นนายปดิพัทธ์ห้วนๆ ก็ไม่มีวันนี้หรอก ผมจึงไม่เชื่อว่า พรรคก้าวไกลไม่สามารถเจรจาให้หมออ๋องลาออกจากรองประธานสภาฯ ได้จริงๆ ถ้าพรรคก้าวไกลต้องการเก้าอี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน
แต่ความจริงการขับหมออ๋องออกจากพรรคเป็นเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลใช่ไหมล่ะ เป็นการใช้วิธีการทางการเมืองแบบเก่าซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลที่บอกว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ที่จะทำการเมืองแบบใหม่ ทำการเมืองดี เพื่อจะให้บ้านเมืองดีเพื่อใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการรักษาเก้าอี้ไว้ทั้งสองตำแหน่ง
วันนี้พรรคก้าวไกลออกมาบ่ายเบี่ยงการกระทำนิติกรรมอำพรางดังกล่าวต่างๆนานา รวมถึงโทษว่า เป็นความผิดของรัฐธรรมนูญพรรคจึงต้องใช้ทางเลือกดังกล่าว ก็ต้องรอดูว่า ในอนาคตหมออ๋องจะกลับมาเข้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ หรือถ้าไม่เข้าพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะส่งคนของพรรคลงแข่งกับหมออ๋องในจังหวัดพิษณุโลกหรือไม่ ถ้าไม่แล้ว นี่ก็คือ การต้มตุ๋นประชาชนของพรรคก้าวไกลนั่นเอง
และแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เล่นการเมืองอย่างตรงไปตรงมา และยึดติดกับอำนาจมากกว่าความถูกต้อง
แต่เมื่อเรารู้ว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลในกรณีหมออ๋องเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อจะรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ เอาไว้ ก็มีคำถามว่า การกระทำดังกล่าวถูกต้องตามข้อบังคับพรรคหรือไม่ กระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมจึงเห็นด้วยที่ กกต.จะต้องเข้าสืบสวนเรื่องนี้ หรือมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือไม่
หมออ๋องได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ เพราะเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลเพราะตอนนั้นพรรคก้าวไกลกำลังจะฟอร์มรัฐบาลจึงยังมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน แต่เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลล้มเหลว พรรคก้าวไกลก็เป็นฝ่ายค้าน เมื่อพรรคก้าวไกลเลือกที่จะขับหมออ๋องด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเป็นนิติกรรมอำพรางที่มีเจตนาหลอกคนทั้งประทศ ถามว่า หมออ๋องควรจะออกจากพรรคไปหาพรรคสังกัดใหม่แต่ตัวหรือมีเก้าอี้รองประธานสภาฯ ไปด้วย แม้ตอนเลือกเขาจะเลือกตัวหมออ๋องไม่ใช่เลือกพรรคก็ตาม
วันนี้คนจำนวนมากเชื่อว่า พรรคก้าวไกลนั้นต่างกับพรรคการเมืองอื่น ความเชื่อเช่นนั้นเกิดจากการสร้างภาพและโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดีย แต่จริงๆ พรรคก้าวไกลจะดีหรือแตกต่างกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ก็ต้องรอดูเมื่อพรรคก้าวไกลมีอำนาจนั่นต่างหากที่เราจะมองเห็นตัวตนของพรรคก้าวไกลอย่างแท้จริง
วันนี้คนของพรรคก้าวไกลนั้นมีอำนาจแล้วคนหนึ่งก็คือหมออ๋องนั่นแหละ เราเห็นไหมครับว่า หมออ๋องเมื่อมีตำแหน่งแล้วก็ยึดติดกับอำนาจมากกว่าความถูกต้อง เพราะถ้าเขายึดความถูกต้องเขาก็ต้องเคารพรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้พรรคที่ต้องเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านมีตำแหน่งรองประธานสภาฯ หมออ๋องก็ลาออกเสียเท่านั้นเอง เพราะหมออ๋องเป็นคนของพรรคที่ต้องยึดมั่นอุดมการณ์ของพรรคและได้รับเลือกมาเพราะเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล
แล้วพอหมออ๋องมีอำนาจเป็นรองประธานสภาฯ หมออ๋องทำอย่างไรบ้างครับ ใช้อำนาจรองประธานสภาฯ พาคนของพรรคไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยงบประมาณของแผ่นดินทั้งที่พรรคก้าวไกลเคยประกาศต่อต้านการไปดูงานในต่างประเทศ แล้วมีข้อเคลือบแคลงว่าไปดูงานอะไรที่ติดวันเสาร์อาทิตย์ จนโซเชียลสืบทราบว่า ช่วงนั้นสิงคโปร์มีงานเทศกาลเบียร์ และปรากฏภาพภายหลังว่า หมออ๋องยืนถือกระป๋องเบียร์อยู่ที่นั่น แถม สส.ร่วมคณะของพรรคก็เดินทางกลับมาก่อนที่จะครบกำหนดการเหมือนกับการไปดูงานที่ไม่สลักสำคัญอะไร
แล้วยังไม่นับที่เอางบรับรองในตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไปเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน เมื่อมีเสียงทักท้วงก็อ้างว่า ใครเขาก็ทำกันทุกหน่วยงานแม้แต่ศาลก็มีงบรับรองเหมือนกัน ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องหรือไม่
ผมย้ำอีกครั้งว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลประกาศตัวว่าเป็นการเมืองใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศในสายตาของคนจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะพรรคก้าวไกลยังไม่เคยมีอำนาจเท่านั้นเอง
แต่เราเห็นแล้วว่า วิธีการที่พรรคก้าวไกลใช้กรณีหมออ๋องก็เป็นการเมืองแบบน้ำเน่านั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan