xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ถกแก้น้ำท่วมแจ้งวัฒนะ-ศรีนครินทร์ ชูเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ-พัฒนาระบบแจ้งเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกแก้น้ำท่วม ถ.แจ้งวัฒนะ-ศรีนครินทร์ ตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง ชูเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองส่วย-แก้ระบบท่อ ถ.สุขุมวิท พัฒนาระบบแจ้งเหตุให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (12 ต.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากมีประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังตามแนวถนนที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ เพราะเมื่อฝนตกหนักพื้นที่ดังกล่าวจะมีระดับน้ำสูงจนทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมา ได้แสวงหาข้อเท็จจริงและเชิญทุกหน่วยงาน อาทิ กรมทางหลวง กรมชลประทาน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ประชุมหาทางออกร่วมกันอย่างต่อเนื่องล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สรุปประเด็นปัญหาสำคัญ 5 ด้าน พร้อมให้ข้อเสนอแนะหน่วยไปปฏิบัติ 1. ด้านการบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. ด้านการดูแลระบบระบายน้ำในขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ 3. ปัญหาการทรุดตัวของถนน 4. กรณีจัดเตรียมแผนสำรองเมื่อไฟฟ้าดับ และ 5. กรณีการเตรียมพื้นที่รับน้ำ


ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นประจำในทุกปียิ่งฤดูฝนยิ่งปริมาณน้ำมาก ประกอบกับสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีความแออัด มีการทรุดตัวของแผ่นดิน พื้นที่รองรับน้ำและระบบระบายน้ำที่ยังไม่พอ ขยะและสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ และยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายพื้นที่ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงเรื้อรัง โดยในการแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดินพบปัญหาเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ

1. ตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นถนนแจ้งวัฒนะมีคลองสายหลักทำหน้าที่สำคัญในการระบายน้ำจากพื้นผิวถนนแจ้งวัฒนะไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ คลองบางตลาด คลองบางพูด และคลองส่วย ซึ่งคลองบางตลาดและคลองบางพูด อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรีมีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับคลองส่วยเป็นคลองที่มีแนวขนานกับคลองประปาพบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำและยังไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคลองส่วยอยู่ในความครอบครองของการประปานครหลวงซึ่งการประปานครหลวงไม่ได้มีภารกิจหลักในด้านบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคจึงอาจไม่มีงบประมาณในเรื่องการดูแลระบบระบายน้ำ จึงส่งผลทำให้การระบายน้ำของคลองส่วยไม่มีประสิทธิภาพ

2. ตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเส้นถนนศรีนครินทร์ มีจุดที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมตามบริเวณท่อระบายน้ำที่เป็นรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่บริเวณปากซอยแบริ่ง ถนนสุขุมวิท ยังมีปัญหาการเชื่อมต่อของระบบท่อระบายน้ำ เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำฝั่งจังหวัดสมุทรปราการไม่เชื่อมต่อกับระบบท่อระบายน้ำฝั่งกรุงเทพมหานคร จึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วมขังภายหลังฝนตกหนัก

3. กรณีการแจ้งเหตุพื้นที่น้ำท่วมในสถานการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนมากเกินกว่าที่ระบบระบายน้ำในแต่ละพื้นที่จะรองรับได้จนทำให้มีภาวะน้ำท่วมขัง ในสถานการณ์ดังกล่าวต้องมีระบบการแจ้งเหตุน้ำท่วมไปยังประชาชนเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม และแนะนำเส้นทางที่เหมาะสมต้องแจ้งเหตุล่วงหน้าก่อนเวลาฝนตกและฝนตกหนัก ควรเป็นระบบที่ประชาชนเห็นแล้วเข้าใจได้ง่ายถือเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก 


การหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมภายหลังฝนตกหนัก รวมถึงมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวปีต่อๆ ไป ได้แก่

1. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองส่วยเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะเร่งด่วนของถนนแจ้งวัฒนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการนำสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำออกไปจากคลองส่วยโดยเร็วเพื่อให้ระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ และขอให้จังหวัดนนทบุรีเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหากรณีแนวท่อกีดขวางทางน้ำบริเวณแยกพงษ์เพชร ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถสำรวจได้ว่า เป็นท่อหรือสายสื่อสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด รวมทั้งผลักดันบันทึกข้อตกลง (MOU) กรณีการดูแลและบำรุงรักษาคลองของการประปานครหลวง เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลและบำรุงรักษาคลองส่วยได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

2. แก้ไขปัญหาระบบท่อระบายน้ำบริเวณปากซอยแบริ่ง ถนนสุขุมวิท เพื่อสะสางปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งพบว่าปัญหานี้เกิดจากระบบท่อระบายน้ำฝั่งจังหวัดสมุทรปราการไม่เชื่อมต่อกับระบบท่อระบายน้ำฝั่งกรุงเทพมหานคร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการบูรณาการความร่วมมือแก้ไขระยะเร่งด่วน ดำเนินการสกัดสิ่งกีดขวางเพื่อทำให้ท่อระบายน้ำทั้งสองฝั่งสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยเร็ว ส่วนระยะยาวนั้นขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจจุดเสี่ยงที่มีลักษณะแบบเดียวกันตลอดเส้นถนนศรีนครินทร์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

3. พัฒนาระบบการแจ้งเหตุพื้นที่น้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลระบบระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่น การตรวจวัดค่าน้ำ มีอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน อุปกรณ์วัดระดับน้ำท่วมบนถนน และอุปกรณ์วัดระดับน้ำในคลอง สามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเพื่อวิเคราะห์ ประมวลผล และแสดงผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เห็นควรให้กรุงเทพมหานครพัฒนาระบบการแจ้งเหตุในสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมให้เป็นระบบที่สามารถแจ้งเตือนข้อมูลล่วงหน้าได้ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการดำเนินชีวิต หลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่ที่มีจราจรหนาแน่นหรือมีน้ำท่วมขัง สิ่งที่สำคัญคือแนะนำเส้นทางที่เหมาะสมอย่างทันสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงที่มีปริมาณฝนมากกว่าปกติควรมีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนให้ความร่วมมือ ให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานที่บ้านหรือให้เลิกงานในช่วงเวลาก่อนฝนตก เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน








กำลังโหลดความคิดเห็น