xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.ลุยพื้นที่มหาสารคามร่วมถกแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาสารคาม - สทนช.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่มหาสารคาม เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง บูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ เผย ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปี 65 กว่าร้อยละ 95 ของตำบลถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 2 เดือน เหตุระบายน้ำได้ช้า ลำน้ำชีมีสภาพเป็นคอขวด ชาวบ้านเสนอแก้ปัญหาระยะยาวจะได้ไม่เจอน้ำท่วมซ้ำซาก


ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแนวทางการบริหารน้ำและผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง จะมีแผนงานโครงการพัฒนาด้านน้ำทั้งหมดจำนวน 7,276 โครงการ ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,321 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 0.67 ล้านไร่ และมีพื้นที่ได้รับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 0.68 ล้านไร่ ประชาชน 256,000 ครัวเรือน มีระบบประปาหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ ระบบนิเวศป่าต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเหมาะสม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ปี 2566-2580)

โดยดำเนินการตามลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำในแต่ละด้าน ที่สำคัญได้คัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อใช้เป็นต้นแบบขยายผลแต่ละด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว จำนวน 13 โครงการ ซึ่งได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 33 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวมกว่า 124,510 ไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 11,872 ครัวเรือน




ในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม จากการลงพื้นที่ ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ล่าสุด ปี 2565 พื้นที่กว่าร้อยละ 95 ของตำบลถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 2 เดือน สาเหตุมาจากการระบายน้ำได้ช้า ลำน้ำชีมีสภาพเป็นคอขวด ทาง อบต.โพนงามได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการยกระดับถนนสายบ้านโพนงาม หมู่ 12 ถึงบ้านดอนจำปา หมู่ 7 ระยะทาง 8 กิโลเมตร ให้สูงขึ้นเป็นเส้นทางสัญจรในฤดูน้ำหลาก และปรับปรุงท่อระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้เพียงพอ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ-ท่อส่งน้ำ และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย และขุดลอกหนองน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร (นาปรังทดแทน) และอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง


ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่งของจังหวัดมหาสารคาม ภาพรวมมีปริมาณน้ำรวม 51.76 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63.50 จากปริมาณความจุทั้งหมด 81.42 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52.80

โดยได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น