xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง “วงศ์ศักดิ์” ขอถอนคำสั่งไล่ออกราชการเหตุทุจริตสอบนายอำเภอ ศาล ปค.สูงสุด ชี้ผิดจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค.สูงสุด พิพากษายกฟ้องปม “วงศ์ศักดิ์” อดีตอธิบดีกรม ปค.ขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ เหตุทุจริตสอบนายอำเภอปี 52 ชี้ ผิดจริง คำสั่ง มท.เหมาะสม-ชอบด้วย กม.

วันนี้ (11 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ยกฟ้องในคดีที่ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครองยื่นฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 280/2557 ลงวันที่ 28 พ.ค. 57 ที่ลงโทษไล่ นายวงศ์ศักดิ์ ออกจากราชการ และคำสั่งอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายวงศ์ศักดิ์ ถูกกระทรวงมหาดไทยไล่ออกจากราชการ เนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการจากเหตุทุจริตการสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอปีงบประมาณ 2552

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า แม้ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงแก่นายวงศ์ศักดิ์ แต่ก็มีการชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 85(1) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 อันเป็นการชี้มูลความผิดนายวงศ์ศักดิ์ ว่า ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามมาตรา 19(3) พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 จึงถือได้ว่าการชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นการดำเนินการโดยชอบแล้ว และหลังชี้มูลได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเอกสารที่เกี่ยวข้องและความเห็นไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ซึ่งมาตรา 92 พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 ได้บัญญัติให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นมาอีก ดังนั้น การที่ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดนายวงศ์ศักดิ์ และปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 280/2557 ลงวันที่ 28 พ.ค. 57 ลงโทษนายวงศ์ศักดิ์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2554 ในส่วนที่นายวงศ์ศักดิ์ กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการจึงชอบด้วยขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

ส่วน นายวงศ์ศักดิ์ กระทำผิดทางวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา 85(1) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 หรือไม่ เห็นว่า นายวงศ์ศักดิ์ ในฐานะอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมการปกครอง มีประวัติรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด ย่อมตระหนักและคาดการณ์ได้ว่าการสอบคัดเลือกดังกล่าวอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงชอบที่จะเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยเร็ว แต่นายวงศ์ศักดิ์กลับไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรื่องดังกล่าว หากมีการตรวจสอบย่อมต้องพบความผิดปกติในการให้คะแนนสอบที่ไม่ตรงกับเนื้อหาในกระดาษคำตอบตั้งแต่ต้น การไม่ตรวจสอบจึงผิดวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองพึงกระทำ เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ได้แก่ พยานราย นายวุฒิชัย เสาวโกมุท อดีตผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นพยานสำคัญในการดำเนินการปรับเพิ่มคะแนนและเป็นผู้ประสานให้ผู้เข้าสอบจำนวน 150 ราย เขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ตามคำสั่งของนายวงศ์ศักดิ์และพยานอีก 20 คน ซึ่งเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกได้ให้การว่าได้เขียนกระดาษคำตอบใหม่ตามคำสั่งของกรมการปกครองและอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งหมายถึงนายวงศ์ศักดิ์ อันเป็นคำให้การยอมรับสารภาพที่เป็นหลักฐานสำคัญทำให้พฤติการณ์และข้อเท็จจริงมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน โดยพยานดังกล่าวมิได้มีเหตุโกรธเคืองกับนายวงศ์ศักดิ์มาก่อน จึงเชื่อได้ว่า นายวงศ์ศักดิ์ มีส่วนร่วมในการสั่งการให้ปรับเพิ่มคะแนนสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อตามใบฝาก หรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อ และสั่งการให้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการทุจริตในการสอบคัดเลือกดังกล่าว โดยใช้วิธีการเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ให้สอดรับกับคะแนนสอบที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอปีงบประมาณ 2552 โดยที่นายวงศ์ศักดิ์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรในอำเภอซึ่งจะต้องดำเนินการคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถมีความเหมาะสมสำหรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอต่อไปตามหลักคุณธรรมและปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจใดๆ

“แต่นายวงศ์ศักดิ์กลับอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนช่วยเหลือผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรในอำเภอปีงบประมาณ 2552 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันถือว่ามีความประพฤติไม่ซื่อสัตย์ สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำครบองค์ประกอบของการกระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85(1) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไว้ ข้ออ้างของนายวงศ์ศักดิ์ที่ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจึงไม่อาจรับฟังได้

ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 280/2557 ลงวันที่ 28 พ.ค. 57 ลงโทษไล่นายวงศ์ศักดิ์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 54 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”

ส่วนข้อโต้แย้งของนายวงศ์ศักดิ์ ทั้งกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญ 50 สิ้นสุดลง และทำให้ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 สิ้นสุดลงไปด้วย การที่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นผู้มีเหตุโกรธเคืองกับตนเองทำให้มีลักษณะต้องห้ามในการมาเป็นอนุกรรมการไต่สวน หรือการที่ ป.ป.ช.กับนายวุฒิชัย ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ไว้เป็นพยานเป็นการกระทำที่ไม่ชอบกฎหมาย ศาลเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้


กำลังโหลดความคิดเห็น