“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566 ตอน ชำแหละคำพิพากษา เพิกถอนใบสั่งจราจร ขัดกฎหมาย-ลิดรอนสิทธิ
กลายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เรื่องการกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563
ก่อนต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การออกใบสั่งจราจรตามระบบกฎหมายปัจจุบันนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดรูปแบบของใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรใหม่เหลือเพียงแต่การระบุวิธีการชำระค่าปรับเท่านั้นแตกต่างจากรูปแบบใบสั่งจราจรในอดีตที่ให้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาให้กับผู้ถูกกล่าวหา
และกำหนดให้การชำระค่าปรับกับการชำระภาษีรถประจำปีมีความเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ หากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปี จะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน หากไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้นั้น ก็จะมีความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้
จากรูปแบบของใบสั่งจราจรและการวางระบบการจ่ายค่าปรับตามใบสั่งให้สัมพันธ์กับการชำระภาษีประจำปี จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นางสุภา โชติงาม ข้าราชการกรมการชนส่งทางบก ร้องไปที่ศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลปกครองเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการใช้อำนาจออกใบสั่งและกำหนดค่าปรับตามใบสั่งนั้น ถือว่าเป็นการกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาในทางอาญา ยังคงได้รับการสันนิษฐานว่า ไม่มีความผิด จนกว่าจะถูกพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง
อีกทั้ง เจตนารมณ์ของกฎหมายจราจรยังมุ่งควบคุมกำกับการใช้รถให้เกิดความปลอดภัย ส่งเสริมวินัยจราจร และให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดด้วยความเสมอภาค
การตัดสิทธิในการโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยสาระสำคัญของคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ตรงที่การให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ คือ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากศาลปกครองมีความเห็นว่าการใช้อำนาจทางปกครองออกใบสั่งจราจรตามกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ มาตรา 29 ด้วยเหตุที่ไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิหรือโอกาสที่จะโต้แย้ง และทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริง
ทันทีที่คำพิาพากษาของศาลปกครองเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวไม่น้อย และพุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของสำนักตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะผู้ใช้สื่อสังออนไลน์เรียกร้องให้สำนักตำรวจแห่งชาติ พิจารณาคืนเงินค่าปรับให้กับประชาชนที่ได้ชำระไปก่อนหน้านี้ ย้อนหลังไปถึงวันที่ศาลปกครองกำหนด
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากท่าทีของสำนักตำรวจแห่งชาติแล้ว ปรากฎว่ามีแนวโน้มจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป โดยระหว่างนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฎิบัติหน้าที่ไปตามเดิมทุกประการ
สำหรับประเด็นที่สำนักตำรวจแห่งชาติ เตรียมนำขึ้นมาต่อสู้นั้นอยู่ที่การชี้ให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ารูปแบบของใบสั่งจราจรที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ โดยยังคงให้สิทธิโต้แย้งแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมาย เนื่องจากมาตรา 141/1 ของพ.ร.บ.จราจรทางบก ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาตามใบสั่งจราจรทำหนังสือโต้แย้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ดังนั้น การดำเนินการของสำนักตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมาจึงไม่ได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
จากนี้ไปต้องรอดูว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อไหน ซึ่งถือเป็นอีกครั้งที่สำนักตำรวจแห่งชาติ ต้องตกที่นั่งลำบากท่ามกลางปัญหาภายในและภายนอกที่รุมเร้า
เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มงานที่หนักหน่วงพอสมควรสำหรับพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 eบาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1