xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “โครงการที่จอดเรือพัทยา” สูญงบก่อสร้างกว่า 300 ล้าน ใช้งานไม่ได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ฉาวอีก “โครงการที่จอดเรือพัทยา” งบกว่า 300 ล้าน ไม่เคยใช้งานได้จริง สุดท้ายถูกทิ้งให้พังเหลือแต่ซากประจานความน่าอดสูการใช้งบประมาณแผ่นดิน ขณะเมืองพัทยาดิ้นฟ้องร้องศาลปกครองสูงสุด เอาผิดผู้ออกแบบโครงการ

จากกรณีที่เมืองพัทยา ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการที่จอดเรือแหลมบาลีฮาย ภายใต้งบประมาณ 300 กว่าล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งถือเป็น 1 ในแผนการจัดสร้างอาคารที่จอดรถ-จอดเรือ มูลค่ารวมกว่า 733 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.2556 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายถูกปล่อยให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ให้บริการเรือสปีดโบ๊ตนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปเกาะล้านที่มีมากกว่า 1,000 ลำ เข้ามาใช้จอดเรือรับส่งนักท่องเที่ยว เกิดจากระบบไฮดรอลิกที่ไม่สามารถรองรับและใช้งานจอดเรือได้จริง

และผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นตรงกันว่า ก่อนดำเนินโครงการดังกล่าว เมืองพัทยาควรมีการศึกษาความเหมาะสมและสอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริงก่อนว่าจ้างบริษัทเอกชนออกแบบและลงมือก่อสร้าง เพราะไม่เพียงแต่จุดจอดเรือจะไม่สามารถใช้ได้จริงแล้ว ยังเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวของตะกอนทรายใต้น้ำ


ขณะที่ในปี 2558 เมื่อเกิดภัยธรรมชาติจากอิทธิพลของ “พายุหว่ามก๋อ” ที่สร้างความเสียหายต่อโครงการอย่างหนัก ผู้รับผิดชอบโครงการต่างพากันโยนความผิดให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยไม่มีใครกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างและออกแบบจนกลายเป็นปัญหาที่คาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้เมืองพัทยาในยุคที่ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นนายกเมืองพัทยา จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสำรวจความเสียหายและสืบหาข้อเท็จจริงกรณีที่ “โครงการที่จอดเรือพัทยา” ไม่สามารถใช้งานได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดของหลักทางวิศวกรรม หรือภัยธรรมชาติ โดยมี 3 หน่วยงานหลักด้านวิศวกรรมทะเลและชายฝั่ง ทั้งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมแกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ตรวจสอบ

จนได้ขอสรุปว่าเกิดจากความผิดพลาดใน 2 ประเด็นคือ 1.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายการละเมิด ผิดพลาด ปล่อยปละละเลยโดยไม่เปิดใช้งานจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ และ 2.ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวเงียบหายและไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด


และยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า เมืองพัทยาได้ขนอุปกรณ์จำนวนมากซึ่งเป็นส่วนประกอบของโครงการที่จอดเรือ ที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่นเรือหลายร้อยชุดมูลค่าหลายสิบล้านบาท มากองสุมทิ้งไว้บริเวณโดยรอบอาคารสนามกีฬาในร่ม ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ที่อยู่ภายในซอยชัยพฤกษ์ 2 เมืองพัทยา จ.ชลบุรี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และสุดท้ายต้องขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดไปเก็บรักษาไว้ในที่ห่างไกลจากสายตาผู้คน


ด้าน นายปรเมศวร์ งามพิเชษญ์ นายกเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยว่า โครงการที่จอดเรือพัทยา แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินงานในยุคที่ตนเองนั่งเป็นผู้บริหาร แต่ได้มีการติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

“ทราบว่าที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เอาผิดบริษัทผู้ออกแบบโครงการดังกล่าวเพื่อให้กลับมารับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหาย โดยระบุว่าเป็นการออกแบบที่ไม่รัดกุม แต่ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาว่าผู้รับจ้างไม่มีความผิด โดยเฉพาะความผิดจากการออกแบบโครงสร้าง และเมื่อเป็นเช่นนี้เมืองพัทยา จำเป็นที่จะต้องทิ้งสภาพโครงการและวัสดุต่างๆ เอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้เมืองพัทยาทำการอุทธรณ์และส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเอาผิดต่อไป และหากศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ทุกอย่างคงจะจบ” นายปรเมศวร์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น