ศูนย์ข่าวศรีราชา - ขีดเส้นตาย 820 วันจ้างผู้รับเหมาสร้างต่อโครงการมหากาพย์สนามกีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยาส่วนที่เหลือ ภายใต้งบ 329 ล้าน หลังปล่อยนาน 15 ปีไม่แล้วเสร็จ งวดนี้ ป.ป.ช.ชลบุรี เมืองพัทยา จับมือตรวจเข้ม
จากกรณีที่คณะกรรม ป.ป.ช.ชลบุรี ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสนามกีฬาภาคตะวันออก เนื้อที่ 371 ไร่ ความจุขนาด 20,000 ที่นั่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.4 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ภายใต้งบประมาณดำเนินการกว่า 774 ล้านบาท หลังได้รับการร้องเรียนว่าโครงการดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2551) แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซ้ำยังมีสภาพคล้ายถูกปล่อยทิ้งร้าง
ที่สำคัญอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในอาคารยังเกิดการชำรุดเสียหาย ทั้งที่โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะใช้เป็นศูนย์รวมการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศภายใต้มาตรฐานสากล ตามแผนงานก่อสร้างเดิมตั้งแต่ปี 2551-2560 นั้น
วันนี้ (27 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายกิตติพงศ์ ขลิบแย้ม ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.จ.ชลบุรี และคณะผู้บริหาร รวมทั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา รวมทั้งผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการสนามกีฬา เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงปัจจัยที่ทำให้การก่อสร้างโครงการสนามกีฬาภาคตะวันออก เกิดความล่าช้าตั้งแต่ปี 2551 ว่ามีหลายสาเหตุ
ทั้งในเรื่องพื้นสนามที่มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่จนทำให้ยากต่อการขุดเจาะ หรือปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ซึ่งแม้เมืองพัทยาจะได้รับงบประมาณอุดหนุนผูกพันจากรัฐบาลนานหลายปีจนทำให้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
ขณะที่ปัจจุบัน เมืองพัทยาได้เสนอของบประมาณจากสภาเมืองพัทยาเพื่อสรรหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จในยุคผู้บริหารปัจจุบัน จนทำให้ได้บริษัท กรีนทั้มบ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสนามกีฬาระดับชาติหลายแห่ง เช่น สนามกีฬารังสิต และการปรับปรุงสนามศุภชลาสัย เข้ามารับผิดชอบโครงการต่อภายใต้งบประมาณกว่า 329 ล้าน บาท ในแผนงานระยะที่ 3 หรือส่วนที่เหลือ
โดยมีแผนงานจะเข้าก่อสร้างซ่อมแซมและปรับปรุงในส่วนการก่อสร้างอัฒจันทร์เพิ่มเติมอีก 2,500 ที่นั่ง รวมทั้งการซ่อมแซมตัวอาคาร ครุภัณฑ์ พัสดุ สนามกีฬาทั้งประเภทลู่และลานที่ใช้ในการแข่งขัน ภายใต้กำหนดตามข้อสัญญาก่อสร้างเป็นระยะเวลา 820 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2566 -27 พ.ย.2568
“จากการหารือร่วมกันหลายฝ่ายทำให้มั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างโครงการให้เสร็จไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปี วันนี้จึงถึงเวลาแล้วที่โครงการจะต้องแล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ตาม หากพ้นสัญญาที่ระบุไว้แล้วบริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานได้ตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับสูงถึงวันละ 3 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ผู้รับเหมาเองมีความมั่นใจในการวางแผนงานเพราะมีความชำนาญในการจัดสร้างสนามกีฬาระดับชาติมาแล้ว”
นายปรเมศวร์ ยังเผยอีกว่าจากนี้จะได้เร่งรัดและติดตามการก่อสร้างรวมกับสำนักงาน ป.ป.ช.ชลบุรี ที่จะเข้ามาช่วยดูแลการจัดสรรงบประมาณและการก่อสร้างเพื่อให้มีความคืบหน้าตามแผนงาน และยังให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส
โดยในช่วงแรกคาดว่าจะสามารถเปิดใช้สนามกีฬาขนาด 20,000 ที่นั่งได้ตามเป้าหมาย และน่าจะสามารถจัดการแข่งขันได้ในระดับชาติได้ ส่วนแผนงานการจัดแข่งขันกีฬาระดับอาเซียน หรือเอเชียนั้น อาจต้องมีการขอจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลในการก่อสร้างสนามฝึกซ้อม และสนามอื่นๆ ทั้งสนามจักรยาน สระว่ายน้ำ หรืออาคารกรีฑาในร่ม ซึ่งจะเป็นโครงการในระยะยาวต่อไป
ขณะที่ นายกิตติพงศ์ ขลิบแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ชลบุรี เผยว่าโครงการนี้ได้รับการร้องเรียนมานานด้านความล่าช้าและการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบแปลนที่กำหนด จึงต้องเข้าร่วมตรวจสอบในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณเกินกว่า 100 ล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการเดินไปได้ด้วยความสะดวก และการใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่า ปลอดจากปัญหาทุจริต สำนัก ป.ป.ช.ชลบุรี จึงร่วมกับเมืองพัทยา เข้ามาติดตามโครงการนี้อย่างจริงจังเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” ผอ.ป.ป.ช.ชลบุรี กล่าว