xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สูงสุด ยกฟ้องขอเพิกถอน EIA-ใบอนุญาต 9 โครงการอุตสาหกรรมระยอง-ปราจีน ชี้ ทำถูก กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค.สูงสุด พิพากษา ยกฟ้องปมขอเพิกถอน EIA-ใบอนุญาต 9 โครงการอุตสาหกรรม ใน จ.ระยอง-ปราจีนบุรี ชี้ดำเนินการถูกต้องตาม กม.ขณะนัั้นแล้ว-เอกชน ยกเลิกโครงการ

วันนี้ (28 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนในจังหวัดระยอง รวม 35 ราย ยื่นฟ้องเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับพวกรวม 9 ราย ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และใบอนุญาตการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 9 โครงการ โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า 1. โครงการ เหมืองแร่ทรายแก้ว ของห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุงเกษม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง พบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุงเกษม ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มี.ค. 58 ขอยกเลิกคำขอประทานบัตร ที่ 1/2545 เนื่องจากพิจารณาถึงความจำเป็นในด้านต่างๆ รวมถึงสภาพสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่คำขอ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ หากดำเนินการต่อไปอาจส่งผลกระทบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุงเกษม ในหลายด้าน และสำนักงานอุตสาหกรรมระยอง ได้มีหนังสือ ส่งเรื่องการขอถอนคำขอประทานบัตรดังกล่าว ให้กรมอุตสาหรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อดำเนินการอนุญาตแล้ว จึงไม่มีเหตุ แห่งการฟ้องคดีสำหรับโครงการนี้

2. โครงการโรงงานผลิต Purified Terephathalic Acid (PTA) ของบริษัท อินโดรามา ปิโตรเคม จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พบว่า ได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ก่อนรัฐธรรมนูญ 50 มีผลบงคับใช้ ส่วนการให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ แม้จะได้รับความเห็นชอบหลังรัฐธรรมนูญ 50 ใช้บังคับแต่ก็เป็นการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ไม่เข้าข่ายขยายโรงงานที่ต้องได้รับใบอนุญาตใหม่ ดังนั้นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วไม่อาจถือว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

3. โครงการโรงงานผลิตอีทอกซีเลท นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท ไทยอีทอกซีเลท จำกัด โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีการเปิดดำเนินโครงการก่อนรัฐธรรมนูญ 50 จะมีผลใช้บังคับ ส่วนการให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ แม้เป็นการให้ความเห็นชอบหลังรัฐธรรมนูญ 50 มีผลใช้บังคับแต่เป็นการขออนุญาตติดตั้งถังเก็บผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจำนวน 2 ถัง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตผลิตภัณฑ์อีทอกซิเลทรวมของโครงการที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม ดังนั้นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

4. โครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง
เห็นว่า เป็นโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลอมเหล็กโดยการนำเศษเหล็กที่ผ่านการ
ใช้งานมาแล้วมาทําการถลุงหรือหลอมเป็นโลหะเหล็กอันเป็นกระบวนการรีไซเคิลเหล็ก (Recycle) ทั้งยังมีกำลัง การผลิตเหล็กขั้นต้นประมาณ 1,667 ตัน/วัน และแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายของโครงการกำลังการผลิตประมาณ 1,500 ตัน/วัน
จึงไม่เข้าลักษณะเป็นโครงการหรือกิจกรรมตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ฯ พ.ศ. 2553 ลำดับที่ 5(5.1)ที่จะต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 27วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 50 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่ถือว่าอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

5. โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว บริเวณชายหาดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง (ประเภทคมนาคม) ของบริษัท เอเชีย เทอร์มินัล จํากัด เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นคำแถลง ลงวันที่ 24 พ.ย. 64 ว่า บริษัท เอเซีย เทอร์มินัล จำกัด ได้มีหนังสือ ที่ ATC/004๐๐๔/60 ลงวันที่ 30 มิ.ย. 60 ขอยกเลิก การดำเนินโครงการดังกล่าว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2560 เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 60 รับทราบแล้ว จึงไม่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

6. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 500 เมกะวัตต์ ของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เห็นว่า การเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการดังกล่าวจึงเป็นเพียงการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการก็ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ตามที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้แล้ว ดังนั้น ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการพิพาทโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุ ที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือได้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

7. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนของบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เห็นว่าข้อเท็จจริงรับเป็นที่ยุติว่า โครงการพิพาทได้มีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) โดยได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบทุกขั้นตอนแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้รายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) มาโดยตลอดจึงถือได้ว่า โครงการพิพาทได้มีการดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสองรัฐธรรมนูญ 50 เหตุแห่งการฟ้องคดีโครงการนี้จึงหมดสิ้นไป

8. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ประเภทชลประทาน ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งยาว ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เห็นว่า โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการมาก่อนที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 2553 จะมีผลใช้บังคับ โดยกรมชลประทานได้ว่าจ้าง บริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ มหาวิทยาลัยมหิดล ทําการศึกษารายงานความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ มีการส่งรายงานศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ กรณีจึงต้องถือว่าโครงการ อ่างเก็บน้ำพิพาทได้มีการดำเนินการตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้แล้ว และอธิบดีกรมชลประทานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ได้มีการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น จำนวน 4 ครั้ง ช่วงวันที่ 19 ต.ค. 50 - 23 ก.ย. 59 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามเจตนารมณ์มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อการดำเนินโครงการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่อาจถือได้ว่าอธิบดีกรมชลประทานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โครงการโรงไฟฟ้า TNP 2 ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เห็นว่า ผู้ประกอบการได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ อันถือได้ว่า ได้มีการดำเนินการตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้แล้ว และโครงการดังกล่าว เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง สำรองฉุกเฉิน โดยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตและติดตั้งรวม 121.61 เมกะวัตต์ เท่านั้น จึงไม่เข้าลักษณะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2553 ลำดับที่ 11 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือได้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น