xs
xsm
sm
md
lg

วิ่งสะดวก 6 เลน "มาบตาพุด-นิคมพัฒนา" 13.6 กม. พร้อมทางลอดจุดตัด ทล.ขยายเสร็จแล้ว หนุนโลจิสติกส์พื้นที่ EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.ขยาย 6 ช่องจราจร ถนนสาย ต.มาบตาพุด-อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัด ทล.3191 กับ ทล.3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) จ.ระยอง ระยะทาง 13.6 กม.เสร็จแล้ว งบกว่า 1.47 พันล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์นิคมฯ มาบตาพุด สนับสนุน EEC

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างสะพาน ทล.ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด-อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) จ.ระยอง ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 1,473,482,804.86 บาท เสร็จแล้ว ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ รองรับการสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด-อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) พื้นที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทางหลวงสายดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ประชาชนเลือกใช้ในการเดินทางไปสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรรวมถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและส่งผลกระทบถึงการจราจรในเส้นทางใกล้เคียงด้วย

กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญโดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเป็นสำคัญ จึงดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด-อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับ ทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) ช่วง กม.0+000 ถึง กม.13+600 โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.มาบตาพุด สิ้นสุดที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง รวมระยะทางทั้งหมด 13.6 กิโลเมตร


โดยโครงการมีลักษณะเป็นการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 3191 จากเดิมขนาด 4 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ผิวจราจรคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรแบบเกาะยก และดำเนินการก่อสร้างทางลอดบริเวณแยกนิคมพัฒนา ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีความยาว 893 เมตร ความกว้าง 21 เมตร เพื่อไปสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งก่อสร้างขยายสะพาน (เดิม) 12 แห่ง ก่อสร้างสะพานข้ามแยก (ที่ กม.7+500) 1 แห่ง พร้อมงานไฟฟ้าแสงสว่างตลอดทั้งโครงการ


เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ช่วยลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง สามารถรองรับปริมาณจราจรที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงปรับทัศนียภาพทางหลวงให้เป็นระเบียบ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพการให้บริการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักลงทุนตลอดจนนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระยอง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ในการสนับสนุน EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น