ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน อ.นครหลวง อยุธยา สั่ง นายก อบต.แม่ลา เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเสร็จ 90 วัน
วันนี้ (27 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่าที่อนุญาตให้บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการคัดแยกขนาดและขนถ่ายถ่านหิน เปลี่ยนวัตถุประสงค์ หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ได้ จำนวน 2 ท่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 58 ตามใบอนุญาตเลขที่ 007/2555 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 55 และใบอนุญาต เลขที่ 066/2538 ลงวันที่ 27 พ.ย. 38 โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต และ หาก บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ประสงค์จะขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ใหม่ โดยให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย.55 และให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา (อบต.แม่ลา) อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละออง จากการประกอบกิจการคัดแยกและขนถ่ายถ่านหินของบริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
คดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้าน อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวม 47 ราย ได้ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัด กับพวก กรณีอนุญาตให้บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการคัดแยกขนาดและขนถ่ายถ่านหินมาดำเนินกิจการโรงงาน และท่าเรือขนส่งสินค้า จนเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมใน อ.นครหลวง
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือดังกล่าว จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย. 55 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ดำเนินการจัดทำ EIA จึงเป็นกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การที่อธิบดีกรมเจ้าท่า ใช้ดุลพินิจอนุญาตบริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ได้ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย