ศาล ปค.สูงสุด พิพากษายืนยกฟ้องปมชาวบุรีรัมย์ ขอเพิกถอนสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมบนบก เหตุยังไม่พบมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐ-ปชช. ชี้ ถ้าพบการสำรวจบุกรุกที่ดิน เจ้าของที่สามารถใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายได้
วันนี้ (13 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ยกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านใน จ.บุรีรัมย์ รวม 98 ราย ยื่นฟ้องอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, รมว.พลังงาน, คณะกรรมการปิโตรเลียม, บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลี่ยม (กรุ๊ป) จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ขอให้เพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
โดยศาลฯเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 ราย ได้มีหนังสือร้องขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 เพื่อแจ้งเรื่องการดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามที่กล่าวอ้างเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้น จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามีข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 ราย กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 ราย อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ว่าจ้างให้บริษัท บีจีพี อินท์ ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ โดยมีการบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า หากมีการกระทำดังกล่าวจริงและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ ถ้าไม่สามารถตกลงถึงจำนวนค่าเสียหายได้ ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาตโตตุลาการวินิจฉัย โดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับตามมาตรา 67 วรรคสาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้งเรื่องการได้รับความเสียหายจากการสำรวจปิโตรเลียมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยการบุกรุกเข้าไปในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตให้กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ จึงไม่อาจถือได้ว่าคดีนี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(2)พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 เกิดขึ้นแล้ว เมื่อยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 ราย กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้