xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล-ฝ่ายค้าน (ก้าวไกล) รัวจุกๆ ระวังน็อก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปดิพัทธ์ สันติภาดา - เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

อาจเป็นเพราะสังคมสมัยใหม่ เป็นสังคมโซเชียลฯ ที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเป็นสื่อ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนในมือเท่านั้น เพราะสามารถส่งต่อความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ใครก็ได้ โดยเฉพาะรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักการเมืองได้ทุกเรื่อง หากเห็นว่าทำเรื่องไม่ชอบใจ โดยเฉพาะพวกนักการเมือง รัฐมนตรีที่อาสาเข้ามา พวกนี้จะโดนจับจ้องมากเป็นพิเศษ และก็โดนกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน

แน่นอนว่า เวลานี้นอกเหนือจากประเด็นอ่อนไหวต่อความรู้สึกของชาวบ้านกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าทำตัวไม่ต่างจาก “นักโทษเทวดา” ที่แทบไม่มีใครเชื่อว่ามีอาการป่วยหนักจนเป็นสาเหตุต้องมารักษาอาการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลข้างนอก โดยตอนนี้ยังรักษาอาการที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงบัดนี้เกือบครบ 30 วันแล้ว และเชื่อว่าประเด็นนี้ จะเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าจับตาว่าอาจกระทบภาพลบต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังได้เกิดประเด็นอ่อนไหวซ้ำเติมเข้ามาแบบรัวๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งตำแหน่งการเมืองเข้ามามากมาย ประเภทที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้แทนการค้า เลขานุการสารพัด เรียกว่าหากพอไล่เรียงรายชื่อ หลายคนไม่ต่างจาก “เด็กในบ้าน” เคยรับใช้ใกล้ชิด หรือบางคนแม้เคยมีประวัติด่างพร้อย ก็มีรายชื่อได้รับแต่งตั้งอยู่ในแถวหน้า หรือบางคนแค่มีนามสกุลเดียวกับ “ลูกเขย” ก็ได้ตำแหน่ง เรียกว่ามากันครบ

นี่ยังไม่นับ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ” ที่ถือโอกาสมากันครบถ้วน โดยต้องโฟกัสไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นรองประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนกรรมการคนอื่นนั้น หากพิจารณาในเชิงการเมือง ล้วนไม่ต่างจาก “ครม.เงา” แต่ละคนล้วน “สายตรง” ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดกันมานาน

เอาเป็นว่าบรรดาคณะกรรมการ และ “คณะกุนซือ” ทั้งหลายแหล่ ที่ประดังตั้งเข้ามาทุกสัปดาห์ ล้วนแล้วถูกมองว่าเป็นการ “ตอบแทนคนรู้ใจ” เสียมากกว่า แม้ว่าชาวบ้านจะเริ่มเกิดความรู้สึกขึ้นมาบ้าง แต่ก็อย่างว่า ในเมื่อยังเป็นช่วงเริ่มต้น รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เพิ่งทำงานได้ไม่กี่วันก็ต้องอดทนรอ และให้โอกาสกันไปก่อน

แต่ล่าสุด ก็ยังมีเรื่องให้เป็น “ขี้ปากชาวบ้าน” ขึ้นมาอีก กับเรื่องรายจ่ายการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา เพราะมีทั้งเรื่อง “เงินค่าเหมาลำ” เครื่องบินบริษัทการบินไทย รวมไปถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายของคณะที่ร่วมเดินทางที่มีทั้ง นายกรัฐมนตรีและภริยา เลขาฯ นายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าราชการและนักธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งนอกจากถูกวิจารณ์ในเรื่อง “ราคาแพงเวอร์” แล้ว ยังพ่วงเอาบุคคล ที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับงาน จนถูกวิจารณ์หนักๆ เช่นแบบ “ผลาญงบ” อะไรประมาณนั้น

จากข้อมูลที่อ้างอิงของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่โพสข้อความเผยให้เห็น ชื่อคณะบุคคล ที่ร่วมเดินทางกับนายกรัฐมนตรีร่วม 50 คน โดย 19 รายชื่อแรก ปรากฏชื่อ บุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการ และ ไม่เป็นข้าราชการการเมือง อย่างน้อย 2 รายแล้ว คือ 1. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ นักธุรกิจเอกชน 2. นางสาวชนัญดา ทวีสิน บุตรสาวนายกรัฐมนตรี ส่วนภรรยานายกรัฐมนตรี คุณพักตร์พิไล ทวีสิน นั้น สามารถเดินทางร่วมด้วย ในฐานะ First Lady ที่สามารถไปได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีไปต่างประเทศในงานที่สำคัญครับ ประเด็นเอกชน และ บุตรสาว คงเป็นประเด็นที่สังคมต้องตั้งคำถามว่า สามารถทำได้ หรือไม่ ที่ใช้งบราชการ และที่สำคัญ เมื่อวาน นายกรัฐมนตรี ตอบสื่อว่า “ไม่มี” (เสียงต่ำ) นั่นเป็นข้อสังเกต และตั้งคำถามจาก นายสมชัย และหากเป็นข้อมูลจริง มันก็สมควรถูกตั้งคำถาม อยากได้คำอธิบายที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ด้วยเหมือนกัน

ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปทางฝ่ายค้านบ้าง โดยเฉพาะ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล ที่เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับการใช้งบประมาณเดินทางไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้งบประมาณจำนวน 1,379,250 บาท มีคณะผู้ร่วมเดินทางรวม 12 คน ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย. 2566 ซึ่งตามหลักฐานเอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น

โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อศึกษาดูงานด้านระบบสารสนเทศการประชุมของรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์, การบริหารจัดการแรงงานของคนไทยในสาธารณรัฐสิงค์โปร์ และการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุมัติการเดินทาง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 66 และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุมัติงบประมาณเป็นเงินจำนวน 1,379,250 บาท (หนึ่งล้านสามแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยห้าสิบบาทถ้วน) เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ ของนายปดิพัทธ์ และคณะ

ทั้งนี้ ภารกิจการเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ดังกล่าวของ นายปดิพัทธ์ และคณะ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ภายในสภาผู้แทนราษฎร อย่างกว้างขวาง โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งเรื่องอนุมัติอย่างเร่งรีบ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแผนและงบประมาณ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งมองว่า เป็นห้วงเวลาใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2566 (30 ก.ย. 66) จึงต้องรีบเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังเหลืออยู่

อีกทั้งยังมีการระบุด้วยว่า การเดินทางไปสาธารณรัฐสิงคโปร์ครั้งนี้ ไม่ได้มีการเชิญจากหน่วยงานหรือบุคคลของทางสาธารณรัฐสิงคโปร์ แต่เป็นดำริของนายปดิพัทธ์ ที่มอบหมายให้กลุ่มงานพิธีการทูต สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นผู้ประสานไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อขอเดินทางไปเยือน

สำหรับรายชื่อคณะผู้ร่วมเดินทาง 12 คนนั้น มี 7 คน ที่เป็น ส.ส. ประกอบด้วย 1. นายปดิพัทธ์ สันติปาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะหัวหน้าคณะ 2. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, 3. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 4. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล 5. น.ส.พิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย 6. น.ส.ทิสรัตน์ เลาหพล ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และ 7. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ที่เหลือ 4 ราย เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจติดตามคณะ ส่วนอีก 1 ราย มีชื่อของ นายไกลก้อง ไวทยการ อดีตนายทะเบียน และผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ระหว่างการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุว่า เป็นผู้ติดตามของ นายปดิพัทธ์ และออกค่าใช้จ่ายเอง

แม้ว่าข้อมูลและรายชื่อจะออกมาสองสามวันแล้ว แต่ก็เน้นย้ำให้เห็นว่าภารกิจแบบนี้มันมีความเหมาะสม และมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านสามารถมีความคิดสรุปได้เองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็น ก็คือ มันเป็นการ “สะสมแต้มลบ” ให้กับตัวเขาเอง เพราะที่ผ่านมาก็ถือว่า “งานเข้า” มาอย่างต่อเนื่อง จนได้ฉายา “ทั่นรองหมูกระทะ” และ “ทั่นรองเชียร์เบียร์” มาแล้ว ยังไม่นับข่าวคราวที่ว่าเตรียมแผนให้พรรคก้าวไกล ขับออกจากพรรคเพื่อให้สามารถเข้าไปสังกัดพรรคเป็นธรรม หาวิธี “ลอดช่อง” กฎหมาย รักษาเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนฯ และสถานะ ส.ส.เอาไว้ หลังจากที่พรรคก้าวไกล ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านขึ้นมา ซึ่งตามกฎหมายก็ต้องไม่มีสมาชิกที่เป็นรองประธานสภา

แน่นอนว่า จากเรื่องราวข้างต้น อาจไม่ถึงขั้นทำให้ทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่าง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ต้องตกเก้าอี้ลงไปได้ แต่มันก็ทำให้เริ่ม “สะสมความเสื่อม” ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยความเชื่อมั่นศรัทธาที่เคยมีให้เต็มร้อย มันก็ย่อมลดทอนลงมา ซึ่งหากยังไม่มีแต้มบวกขึ้นมาหักล้างออกไป วันข้างหน้าหากมีเรื่องอื้อฉาวซ้ำเข้ามา หรือเกิดความล้มเหลว หรือมีเรื่องทุจริตบวกเข้ามา ถึงตอนนั้นคงเอาไม่อยู่แล้ว และที่สำคัญก็ต้องหากไม่มีช่วง “ข้าวใหม่ปลามัน” เลย มีแต่เรื่องชวนให้ส่ายหน้า มันก็เสี่ยงเหมือนกัน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น