วันที่ 1 กันยายน 2566 นี้ เป็นวันรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี บุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ได้กล่าวว่า วันที่ 1 กันยายน 2566 ปีนี้ ถือว่าเป็นปีสำคัญ ที่เป็นวันครบรอบ 33 ปีของการจากไปของนายสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้เริ่มตำนานการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของไทย โดยหลังจากงานพระราชทานเพลิงศพหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ในเดือนกันยายน 2533 คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมกันบริจาคเงินรวมมากกว่า 20 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้นมา โดยได้รับเงินพระราชทานเริ่มต้นจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปี 2534 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เริ่มทำงานตามเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาและอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีการจัดตั้งกองทุนผู้พิทักษ์ป่าเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ปฎิบัติงานจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมไปถึงการมอบทุนการศึกษาให้บุตรธิดาของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน จนจบการศึกษาปริญญาตรี และขยายผลไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิและสมาคมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร ที่ดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และช่วยเหลือสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ
นายธีรภัทรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 นายชัชวาลย์ พิศดำขำ ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต่อมาได้ร่วมกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ หัวหน้าสถานีวิจับสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี สมัยนั้น เชิญชวนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนหลายองค์กร ร่วมกันสืบสานงานสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนขยายผลสำเร็จไปสู่การบริหารจัดการระดับประเทศ รวม 5 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการป้องกัน ด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ และด้านการมีส่วนร่วม โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้
1) ด้านการบริหารจัดการ ปี 2533 ผลักดันการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งให้เป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ ปี 2535 ยกระดับการควบคุมไฟป่าในป่าห้วยขาแข้งนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานป้องกันไฟป่าทั่วประเทศ ปี 2545 นักอนุรักษ์และนักวิชาการเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 แบ่งกรมป่าไม้ ออกมาจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครอบคลุมพื้นที่ป่ามากกว่า 70 ล้านไร่ทั่วประเทศ ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนรุกขชาติ และสวนพฤกษศาสตร์ มากกว่า 350 แห่ง ปี 2540 เริ่มมีการนำร่องการบริหารจัดการป่าแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ และการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมที่ผืนป่าตะวันตก เป็นพื้นที่แรก และขยายผลการบริหารจัดการเป็นกลุ่มป่าอนุรักษ์ 19 กลุ่มป่า ปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ ยกระดับให้เป็นเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ต่อมากลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกเช่นเดียวกัน ปี 2535 ขยายการจัดตั้งป่ากันชนรอบป่าห้วยขาแข้งที่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้นำไปสู่การจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศ รวมมากกว่า 11,000 พื้นที่ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ชุมชนรอบป่ามากกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงการพัฒนากฎกมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย มีการจัดทำแผนแม่บท และแผนระดับต่างๆด้านการอนุรักษ์พื้นที่และการอนุรักษ์สัตว์ป่าในระยะต่อมา
2) ด้านการป้องกัน ปี 2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเริ่มมีการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol ที่ใช้ระบบ GPS มาติดตามการเดินลาดตระเวนป่า มีโครงการ Smart Eye ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ กล้อง N-Trap และ CCTV รวมถึงการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อมาสนับสนุนการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า มีการเดินลาดตระเวนป่าแต่ละพื้นที่ระยะทาง 5,000- 20,000 กิโลเมตรต่อปี และขยายผลระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ จัดทำโครงการป่ากันชน และโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) แก้ไขปัญหาคนบุกรุกพื้นที่ป่า ดำเนินงานโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ พัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้เกษตรกรที่เคยบุกรุกป่าและที่อาศัยรอบเขตป่ากันชน นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) บูรณาการการนโยบายการจัดการที่ดินทั่วประเทศ มีการฝึกอบรม เพิ่มสวัสดิการและเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะเพิ่มเงินเดือนพนักงานพิทักษ์ป่า เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม 2566
3) ด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา มีการศึกษาวิจัยด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาสัตว์ป่าวงศ์และชนิดสำคัญ ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เริ่มจากการวิจัยกลุ่มวัวป่า กระทิง วัวแดง ควายป่า กลุ่มสัตว์ผู้ล่าและเสือโคร่ง นกเงือก และสัตว์ป่าหายากชนิดต่างๆ นำไปสู่แผนปฎิบัติการอนุรักษ์สัตว์ป่าสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะเสือโคร่ง ช้างป่า และนกเงือก เป็นต้นแบบการศึกษาวิจัยระดับภูมิภาค มีการศึกษาระบบนิเวศป่าไม้ระยะยาวและขยายผลมาวิจัยการกักเก็บคาร์บอนด้านป่าไม้ ทำให้สนับสนุนการจัดสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทยมีความต่อเนื่องมาร่วม 30 ปี และเกิดความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดการประชุมวิชาการป่าไม้ขึ้นมาต่อเนื่องเช่นกัน มีการนำงานวิชาการมาสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดความขัดแย้งระหว่างการใช้พื้นที่ร่วมกันของคนกับช้างป่าและสัตว์ป่า การท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า
4) ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ ปี 2535 สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก ชมรมนักนิยมธรรมชาติ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) กองทุน DANCED และ DANIDA จากประเทศเดนมาร์ก กองทุนจากธนาคารโลก หรือ GEF บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ได้เริ่มการจัดทำโครงการห้วยแม่ดี ฝึกอบรมเยาวชนรอบป่าห้วยขาแข้ง และพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าห้วยขาแข้งให้มีมาตรฐานขึ้น และต่อมามีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขยายผลสู่การจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ ทั่วประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าอนุรักษ์ ระยะทางรวมมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ
5) ด้านการมีส่วนร่วม ปี 2540 มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก มีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก และคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยมีรายงานเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ และต่อมาปี 2562 มีการขยายผลผลักดันให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ
นายธีรภัทรฯ กล่าวสรุปว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 จากการเริ่มต้นทีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงปี 2561 นักวิชาการหลายท่านได้นำต้นแบบการทำงานที่ได้ผลเป็นรูปธรรมแล้วดังกล่าวไปขยายผล โดยบรรจุให้เป็นแผน แนวทาง มาตรการ โครงการและกิจกรรมต้นแบบไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพืีอให้เกิดการบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคนไทยทั้งประเทศ และคนทั้งโลก อย่างยั่งยืน แลพขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ทุกระดับ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ในช่วง 33 ปีที่ผ่านมา และระยะเวลาต่อจากนี้ไป