xs
xsm
sm
md
lg

จ่อดันแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระดับที่ 3 กว่า 1 พันแผน ถ่ายระดับ ขึ้นเป็นแผนระดับ 1 ให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดรายงานล่าสุด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มรดกรัฐบาล คสช. ก่อน นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน ตามกฎหมาย เผย “สภาพัฒน์” ฐานะเลขานุการ เตรียมดันแผนระดับที่ 3 กว่า 1,085 แผน ก่อนถ่ายยกระดับ ขึ้นเป็นแผนระดับที่ 1 หรือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

วันนี้ (30 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จะขอเข้ามาศึกษา แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ว่าในส่วนไหนที่สามารถทำได้หรือไม่ ได้อย่างไร เพราะโลกปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปโดยเร็วพอสมควร ต้องดูให้ดีก่อน ไม่อยากบอกว่าเหมาะสมหรือไม่

ล่าสุด พบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ในฐานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รายงาน “การนำเข้าแผนระดับที่ 3”

ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี พ.ศ. 2580 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูล แผนระดับที่ 3 ณ วันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่นำเข้าในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) หรือ แผนในเชิงปฏิบัติที่มีความชัดเจนตามภารกิจส่วนราชการที่สอดคล้อง

เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนระดับ 1 และแผนระดับ 2 หรือจัดทำขึ้นตามกฎหมายกำหนด หรือจัดขึ้นตามพันธกรณีหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ

มีหน่วยงานนำเข้าข้อมูล แผนระดับที่ 3 จำนวน 1,085 แผน

แบ่งเป็น (1) แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี จำนวน 462 แผน (2) แผนปฏิบัติราชการรายปี จำนวน 481 แผน และ (3) แผนปฏิบัติการด้านต่างๆ จำนวน 142 แผน

สภาพัฒน์ ยังได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องนำเข้าแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในระบบ eMENSCR ให้แล้วเสร็จ

และรายงานผลสัมฤทธิ์ของแผนระดับที่ 3 รายปี ภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ/ปีปฏิทินถัดไป

เพื่อให้เป็นไปตามนัยของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 เรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ และ ประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ

ขณะที่ การดำเนินการในระยะต่อไป สภาพัฒน์ อยู่ระหว่างวิเคราะห์ช่องว่างประเด็นการพัฒนาที่จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน...

เพื่อให้การจัดทำแผนมีความคลอบคลุมประเด็นการพัฒนาเฉพาะเท่าที่จำเป็นที่จะสามารถถ่ายระดับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่สอง ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น

โดยให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้จัดทำแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อยกเลิกแผนปฏิบัติการด้าน... ที่มีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น

และจัดทำเฉพาะในส่วนที่เป็นประเด็นที่ต้องมีและจำเป็นต่อบริบทของเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ปัจจุบันประเทศไทย มีการจำแนกแผนออกเป็น 3 ระดับ ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560

มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นแผนระดับที่ 1 ซึ่งใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล

โดยในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติ ไปสู่การปฏิบัตินั้น จะดำเนินการผ่านการถ่ายระดับเป้าหมายและประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ สู่แผนระดับที่ 2 และแผนระดับที่ 3

เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายในปี พ.ศ. 2580 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมด 35 คน ปัจจุบันแบ่งเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 18 คน และประเภทที่สอง กรรมการจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี 17 คน

กรรมการยุทธศาสตร์ชาติประเภทที่หนึ่ง จะพบว่า สัดส่วนกรรมการจะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ตัวแทนฝ่ายความมั่นคง จำนวนเจ็ดที่นั่ง ตัวแทนจากกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ จำนวนห้าที่นั่ง

ตัวแทนจากฝ่ายการเมือง จำนวนสามที่นั่ง และ ตัวแทนจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนสองที่นั่ง

โดยตำแหน่ง “ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จะเปลี่ยนมือ มาเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานยุทธศาสตร์ชาติคนที่หนึ่ง

บทบาทสำคัญของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การเสนอความเห็นต่อรัฐสภา ครม. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ การกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

และการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีหน้าที่ร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ยื่นวินิจฉัยการทำงานของ ครม. หากไม่เป็นไปได้ยุทธศาสตร์ชาติได้

ซึ่งผลที่ร้ายแรงในกรณี ก็คือ การสั่งให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และจำคุกไม่เกิน 10 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น