xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ขอบคุณทุกฝ่ายช่วยกันอนุรักษ์เพิ่มจำนวนเสือโคร่ง มั่นใจปี 77 ไทยเป็นผู้นำอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วน ช่วยกันอนุรักษ์เพิ่มจำนวนเสือโคร่งสำเร็จ ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัย มั่นใจภายในปี 2577 เป็นผู้นำอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จัทร์โอชา ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง จนทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในโอกาส “วันเสือโคร่งโลก” หรือ “Global Tiger Day” ซึ่งเป็นการประการเจตนารมณ์ของทั่วโลกที่จะอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งไม่ให้สูญพันธุ์ และด้วยความทุ่มเทของทุกภาคส่วนของประเทศไทย ทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี พ.ศ. 2577 ตามที่ตั้งเป้าไว้

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2565) ที่ครอบคลุมการศึกษาวิจัย การฟื้นฟู การจัดการถิ่นอาศัยของเสือโคร่งและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ซึ่งพบว่า ในปี 2565 ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติมีจำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากในปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทาง และการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด คือ 103-131 ตัว ส่วนพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้จำนวน 16-21 ตัว รวมถึงยังสามารถบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง และวัวแดง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่า และความเหมาะสมของการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี

รัฐบาลยังได้กำหนดแนวทางดำเนินการต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) โดยเน้นเป้าหมายการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติให้เพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่ และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก พร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2577 ของไทย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเสือโคร่งถือเป็นสัตว์ป่าที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศเเละเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพื่อให้ไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2577 ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น