วันนี้ (5 ส.ค.2566) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทช.) จัดกิจกรรมก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน เนื่องในวันเสือโคร่งโลก (29 ก.ค.) ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมรายงานผลสำเร็จของการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งกับจำนวนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติล่าสุด ที่มีประมาณ 148-189 ตัว
กรมอุทยานฯ รายงานว่าจากผลการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและทุ่มเทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในปัจจุบันสามารถประเมินประชากรเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศจากการบันทึกภาพผ่านกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ และการจำแนกลาย ได้ประมาณ 148-189 ตัว
โดยมีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง พบจำนวน 103-131 ตัว รองลงมาคือ อุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา จำนวน 15-23 ตัว
ทั้งนี้ 6 กุญแจสำคัญสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย ประกอบด้วย
1) ด้านนโยบาย การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 - 2577, การปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
2) ด้านการศึกษาวิจัยและเทคโนโลยี ได้ดำเนินการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยประยุกต์และปรับปรุงเทคนิค อุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับการศึกษาวิจัยให้ทันสมัย และเป็นประโยชน์ในการติดตามแนวโน้มประชากรเสือโคร่งที่แม่นยำมากขึ้น
3) ด้านการป้องกันปราบปราม การนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART patrol มาใช้ในพื้นที่อนุรักษ์เป้าหมายของประเทศไทย
4) ด้านการเสริมสร้างศักยภาพ จัดทำโครงการฝึกอบรมเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพแก่เจ้าหน้าที่ มากกว่า 3,000 คน และส่งเสริมนโยบายเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและครอบครัว จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5) ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนการตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศ
6) ด้านระบบนิเวศ ฟื้นฟูประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การสร้างแนวเชื่อมต่อทางธรรมชาติในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยมีการสร้างทางยกระดับ ยาว 570 เมตร บนทางหลวงหมายเลข 304 เพื่อให้สัตว์ป่าได้ลอดข้าม และทำเป็นอุโมงค์ความยาว 430 เมตร ให้สัตว์ป่าได้เดินข้ามถนนตามแนวเชื่อมต่อ
อ้างอิง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช