xs
xsm
sm
md
lg

อส.-ทธ. เผย 4 ประเด็นใหญ่ “จัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก-วันอนุรักษ์เสือโคร่ง การค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 13 และชวนสัมผัส 10 ที่สุดแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่น อส.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการแถลงข่าว ทส. ครั้งที่ 2 ร่วมกับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และ นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) 2) การจัดงานวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (GLOBAL TIGER DAY) 3) ที่สุดแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ 4) การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก ตัวที่ 13 ของประเทศไทย ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)ให้ข้อมูลถึงการเตรียมการจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี ในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่างานนี้เป็นการระลึกถึงคุณงามความดี สดุดีและรำลึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ สนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้เป็นแนวหน้าในการคุ้มครอง ปกป้องรักษาพื้นที่อนุรักษ์

ส่วนความพร้อมในการจัดงานวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ภายใต้แนวคิด “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” ในวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 ณ ห้องเจ้าพระยาคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยที่ผ่านมา ตามนโยบายและแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 - 2565) ตลอดจนเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2577) สู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน

อีกเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบ ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้มีการแนะนำ 10 ที่สุดแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นทางธรรมชาติ ทั้งในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ เพื่อเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวของประชาชน อาทิ ชายหาดที่สวยที่สุด น้ำตกที่สวยที่สุด ที่สุดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่สุดเส้นทางผจญภัย ที่สุดจุดชมวิว หรือที่สุดที่ท่องเที่ยวด้านความเชื่อ เป็นต้น

ด้าน นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้เปิดเผยถึงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช -กินเนื้อ ที่เป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อย ได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น