xs
xsm
sm
md
lg

มท.ชี้ช่อง “ป้ายโฆษณา” บริษัทจำหน่ายน้ำมันระดับประเทศ พ่วงตู้ EV Station ในพื้นที่อาคาร เข้าข่ายได้ยกเว้นเก็บภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ชี้ช่อง ป้ายโฆษณา ขนาดไม่เกินสามตารางเมตร 5 ประเภท ของบริษัทจำหน่ายน้ำมันยี่ห้อดัง พ่วง EV Station อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นจัดเก็บภาษี ทั้งใน-นอก อาคารจอดรถ-ห้างสรรพสินค้า-โรงแรม-อาคารสำนักงาน หรือ “โรงจอดรถ” ที่มีการเก็บค่าบริการ

วันนี้ (25 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือตอบกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อดำเนินการพิจารณาจัดเก็บภาษีป้ายภาคธุรกิจในพื้นที่ กทม. ตามที่ กทม.ขอหารือ ว่า มีกรณีที่เอกชน จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีหรือไม่

พบว่า เป็นกรณี ป้ายของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่แสดงไว้ภายในอาคาร อาคารจอดรถ อาคารห้างสรรพสินค้า และสถานบริการที่มีขนาดพื้นที่ “ไม่เกินสามตารางเมตร”

เป็นป้ายที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พระราชบัญญัติดังกล่าว

เป็นกรณีที่ กำหนดให้ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่น หรือภายในอาคาร ซึ่งเป็นที่รโหฐาน เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน สามตารางเมตร ให้ได้รับยกเวันไม่ต้องเสียภาษีป้าย

โดยกรณีแรก เป็นป้ายที่มีขนาดพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร ซึ่งแสดงไว้ภายในที่จอดรถ ซึ่งอยู่อาคารเดียวกันกับห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน

เป็นป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมาย ที่ใช้ในการประกอบการค้า เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้ โดยมีการแสดงไว้ภายในอาคารจอดรถ ซึ่งเป็นอาคารเดียวกันกับอาคารห้างสรรพสินค้า

ถือว่าเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายไค้ หากแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร โดยเห็นพ้อง กทม.ว่า ป้ายดังกล่าวจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย

กรณีที่สอง ป้ายที่มีขนาดพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร ซึ่งแสดงไว้ภายในอาคารจอดรถ ที่แยกออกมาจากตัวอาคารประกอบกิจการค้า และอาคารจอดรถ ได้มีการเก็บค่าบริการจอดรถ

แม้จะมี หรือไม่มีสะพานเชื่อม ระหว่างอาคารจอดรถและอาคารประกอบกิจการค้า เห็นว่า เป็นป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมาย ที่ใช้ในการประกอบการค้า เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า เพื่อหารายได้

โดยมีการแสดงไว้ภายในอาคารจอดรถ แม้ไม่ได้อยู่ในอาคารเดียวกันกับอาคารห้างสรรพสินค้า แต่เป็นพื้นที่ที่ใช้ในการประกอบการค้า เพื่อหารายได้

ถือเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ในการประกอบการค้าเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้ หากแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร โดยเห็นพ้อง กทม.ว่า ป้ายดังกล่าวจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย

กรณีที่สาม ป้ายที่มีขนาดพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร ซึ่งแสดงไว้ภายใน “โรงจอดรถ” ที่อยู่นอกอาคารประกอบกิจการค้าซึ่งมีหลังคาปกคลุม และโรงจอดรถ ได้มีการเก็บค่าบริการจอดรถ

และกรณีที่ สี่ และห้า ป้ายที่มีขนาดพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร ซึ่งแสดงไว้ภายในหลังคาของ EV Station ซึ่งเป็นหลังคาปกคลุม EV Charger สำหรับขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า

เห็นว่า เป็นป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า เพื่อหารายได้ โดยมีการแสดงไว้ใต้โครงสร้างหลังคาปกคลุมและเปิดโล่ง และอยู่ใต้โครงสร้างที่สร้างครอบ EV Charger สำหรับขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า

ถือเป็นป้ายภายในอาคาร ที่ใช้ในการประกอบการค้าเพื่อหารายได้ เนื่องจากกรณี “ป้ายภายในอาคาร” ไค้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2544

สรุปว่า พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาคาร” ไว้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร

ซึ่งคำว่า “อาคาร” ตามพจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายความถึง เรือน โรง สิ่งที่ก่อสร้างขึ้น ที่มีลักษณะคล้ายคลึง

เช่นนั้น สถานีบริการนํ้ามัน โดยปกติแล้ว จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวอาคารที่เป็นที่ทำการตู้จำหน่ายน้ำมันและหลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน

รวมทั้งจะต้องเปิดโล่งให้รถยนต์เข้าไปเติมนํ้ามันได้ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นสถานีบริการนํ้ามัน จึงถือเป็นอาคาร

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว กรณีที่สามเป็นป้ายที่แสดงไว้ ใต้โครงสร้างหลังคาปกคลุมและเปิดโล่ง

และกรณีที่ สี่และห้า เป็นป้ายที่แสดงไว้อยู่ใต้โครงสร้างที่สร้างครอบ EV Charger สำหรับขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า จึงถือเป็นป้ายภายในอาคาร หากแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายให้กับ กทม.


กำลังโหลดความคิดเห็น