xs
xsm
sm
md
lg

“โรม” ยอมถอนญัตติ รัฐสภาเดินหน้าถกคุณสมบัติ “เศรษฐา” ก่อนโหวตเป็นนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาเริ่มการพิจารณา “เศรษฐา” เป็นนายกฯ หลัง “โรม” ยอมถอยถอนญัตติทบทวนมติรัฐสภา ขณะ “วันนอร์” ของขึ้น! ปะทะคารม “ธีรัจชัย” สั่งถอนคำพูด หวั่นสังคมเข้าใจผิดว่ารู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก

วันนี้ (22 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยมีวาระการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยขณะเริ่มประชุมมีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุมครบองค์ประชุม 506 คน เกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ ทำให้สามารถเปิดประชุมได้

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติว่าญัตติการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในรอบสองเป็นญัตติทั่วไป ห้ามนำเสนอซ้ำอีก ตามข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภา โดยศาลฯไม่รับคำร้อง

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาทบทวนมติการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ ตนเห็นว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยปกติสภาฯจะยังไม่พิจารณาจนกว่าจะมีคำสั่งศาล ตนเห็นว่า อาจจะละเมิดศาลได้ จึงใช้อำนาจประธาน เลื่อนประชุมไปก่อน ดังนั้นวันนี้หากติดใจขอให้นายรังสิมันต์ เสนอให้หารือได้

ด้าน นายรังสิมันต์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ปัญหาคือโดยหลักการ เมื่อเสนอไปแล้วรัฐสภาต้องพิจารณา แต่ปรากฏว่าในเอกสารสภา เรื่องระเบียบวาระ ไม่ได้ปรากฏว่าจะมีการเสนอญัตติของตน จึงอยากสอบถามเบื้องต้นว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการบรรจุระเบียบวาระที่ขอให้มีการทบทวนมติของรัฐสภาในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จากการประชุมที่ได้มีการลงมติแล้วนำไปสู่การเสนอญัตติด้วยวาจา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาเพิกถอนมติที่เคยลงไว้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ในการตีความระเบียบรัฐสภาข้อที่ 41 โหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำไม่ได้ แต่มีนักวิชาการหลายคนออกมาท้วงติงว่าการตีความดังกล่าวไม่ถูกต้องและภายหลังจากที่รัฐสภามีมติออกมาแล้วเสียงคัดค้านที่ดังออกมาก็ยิ่งหนักแน่นมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ที่ให้มติประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ จาก 115 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการในการเลือกนายกรัฐมนตรีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะต่างจากญัตติทั่วไป

“รัฐธรรมนูญก็ไม่บัญญัติไว้แต่อย่างใดว่าจะเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีคนเดิมซ้ำไม่ได้ เมื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติไว้เพียงเท่านี้ การตีความข้อบังคับสภาที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ไม่สามารถกระทำได้และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้การตีความเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต หาไม่แล้วการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องลำดับชั้นของกฎหมายจะยากที่จะดำเนินการปกติในประเทศไทยต่อไปได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อีกประการเป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นตีความดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ใช่กรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าว แต่ก็เป็นเหตุผลเพราะผู้ร้องไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะยื่นคำร้องได้ ไม่ได้ยกคำร้องจากการพิจารณาเนื้อหาสาระแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องต่างๆ ก็ยังมีความเห็นแย้งกับการตีความที่รัฐสภาได้เคยมีมติไปแล้ว

“เรากลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องที่ควร พวกท่านอาจจะไม่ต้องการให้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อย่าถึงต้องขนาดเผ่าบ้านเพื่ออะไรหนูตัวเดียว ทำลายหลักการแบบนี้จริงๆหรือ” นายรังสิมันต์ กล่าว


จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ได้เตือนให้นายรังสิมันต์สรุป เนื่องจากได้ประเด็นแล้ว ทำให้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงถึงความเป็นกลางของประธาน ระบุว่า ที่ผ่านมา ประธานพยายามขัดขวางการอภิปรายของนายรังสิมันต์
“เหมือนกับมีธงอยู่แล้วว่าไม่ให้แล้วพยายามตัดตลอด ขนาดเวลามีแค่ 13 นาที ท่านก็บอกว่าครึ่งชั่วโมง ผมอยากจะให้ท่านให้โอกาสให้สมาชิกได้มีการอภิปรายเต็มที่”

ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนใช้อำนาจประธานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนด้วยวาจาที่นายรังสิมันต์ เสนอมาในวันนี้ (22 ส.ค.) เพราะเห็นว่า การใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น เป็นไปโดยชอบแล้ว และฝ่ายกฎหมายเห็นว่า ไม่ควรให้มีการทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย และพร้อมเคารพความเห็นชอบนายรังสิมันต์ และความคิดเห็นของสังคมด้วย

ทั้งนี้ นายธีรัจชัย ได้ลุกขึ้นประท้วงถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่ไม่เป็นกลาง และไม่กล้าใช้อำนาจประธานรัฐสภาชี้ขาด และรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากของวุฒิสภา และพรรคขั้วรัฐบาลเก่า จนทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ สั่งให้ นายธีรัจชัย ถอนคำพูดที่กล่าวหาตนรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก มิเช่นนั้น สังคมก็จะเข้าใจตนเองผิดพลาด และขอให้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน

“คุณกล่าวหาผมรุนแรง ประธานจะรู้เห็นเสียงข้างมากได้อย่างไร ผมยังนึกเลยว่าเสียงข้างมากจะไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีการเสนอญัตติเข้ามาก็ต้องพิจารณาตามนั้น คุณธีรัจชัยต้องเข้าใจ เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ผมซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ถ้าไม่ถอนประเด็นนี้ ผมเสียหายและคนข้างนอกมองว่าประธานรู้เห็นเป็นใจ” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

หลังการถกเถียงกัน ระหว่าง นายวันมูหะมัดนอร์ กับ นายธีรัจชัย เสร็จสิ้น นายรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้น ขอถอนญัตติด่วนด้วยว่าจาดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภา สามารถเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 พร้อมยืนยันว่า นายเศรษฐา มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น