xs
xsm
sm
md
lg

“วันนอร์” เมินทัวร์ลง ย้ำเป็นกลางวันโหวตนายกฯ ยึดข้อบังคับ ไม่มีใครเสนอเหตุเปลี่ยนแปลงให้วินิจฉัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันนอร์” ลั่น ไม่กลัวทัวร์ลง พร้อมรับคำตำหนิ ปมการทำงานวันโหวตนายกฯ ย้ำทำหน้าที่เป็นกลาง-ยึดข้อบังคับ แจกแจง วันที่ 19 กรกฏาคม ไม่มีใครเสนอเหตุที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ใช้อำนาจวินิจฉัย

วันนี้ (27 ก.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา แถลงยืนยันในการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตามข้อบังคับและตามที่ได้ให้นโยบายว่า จะปฏิบัติตนเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่ว่าไปรับฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นไม่พอใจและวิจารณ์การทำหน้านี้นั้น ตนไม่หนักใจหรือท้อถอยใดๆ ส่วนตัวคิดว่าตัวเองปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ส่วนความคิดของบุคคลอื่นก็เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเตรียมพิจารณายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการลงมติของรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฏาคม ที่เสียงข้างมาก 395 เสียง เห็นชอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 คัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายช่ือและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้โหวตเป็นนายกฯซ้ำอีกหลังจากครั้งแรกรัฐสภาตีตกไปแล้วนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจบไปแล้ว เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรหรือมีผลผูกพันกับรัฐสภาอย่างไร ต้องรอคำวินิจฉัย

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวยืนยันด้วยว่าในวันที่ 19 กรกฏาคม ตนทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้นั่งฟังการอภิปราย 6-7 ชั่วโมง ไม่มีสมาชิกคนใดแสดงว่ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้ประธานวินิจฉัยว่าเมื่อมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้อนุญาตเสนอชื่อได้อีก เมื่อไม่มีผู้เสนอในที่ประชุมวันนั้น มติเห็นชอบเสียง 395 บาทจึงชอบแล้ว และต้องยึดความคิดเห็นของสมาชิก ยืนยันว่าไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของประธานในที่ประชุมเวลานั้น และไม่ได้ตั้งใจจะปิดประชุมเร็วๆเนื่องจากหมดวาระแล้ว

ทั้งนี้ประธานรัฐสภา ยังได้ไล่เรียงเหตุการณ์ก่อนการประชุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ก็มีข้อคิดเห็นเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าไม่ควรให้มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำกับชื่อเดิม เพราะจะไปขัดกับข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ในวาระที่จบไปแล้วเมื่อวัน ที่ 13 กรกฎาคม จึงไม่สามารถเสนอได้อีก ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ญัตติทั่วไป เพราะเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา 2563 ที่มีกระบวนการเลือกนายกฯกำหนดไว้เป็นพิเศษ ตามข้อบังคับที่ 136-139 ทำให้ประธานรัฐสภาไม่สามารถวินิจฉัยเลือกข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งขึ้นมาได้ และก่อนจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ก็ได้มีการสั่งนัดหารือวิสามฝ่ายเป็นการล่วงหน้าในวันที่ 18 กรกฎาคม พร้อมกับมีการมอบหมายคณะกรรมการพิจารณาประกอบการวินิจฉัยความเห็นของประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีฝ่ายกฎหมายของสภาฯและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้นำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณา แต่ผลสรุปก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ด้วยเสียง 8ต่อ2 ที่เห็นว่าให้ใช้ตามข้อบังคับ ข้อ 41 ได้ และการหารือในวิป 3 ฝ่ายก็ยังไม่ลงตัว ทำให้ต้องไปขอความเห็นในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งวันดังกล่าวก็มีการใช้เวลาพิจารณาหลายชั่วโมงก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จนมีผู้เสนอให้ใช้แนวทางของข้อบังคับข้อ151 ที่ต้องโหวตด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส่วนจะไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือไม่ มองว่าประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัย เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวยืนยันว่าที่สังคมวิจารณ์ตนนั้นตนไม่กลัวทัวร์ลง เพราะตนทำหน้าที่เป็นกลางที่สุด ถูกต้องตามข้อบังคับ และทำหน้าที่เพื่อให้ได้นายกฯของประเทศไทย ส่วนที่จะมีข้อตำหนินั้น ตนพร้อมยอมรับคำตำหนิ ส่วนจะมีผลกระทบต่อการโหวตนายกฯรอบที่ 3 หรือไม่ กล่าวว่าจบไปแล้ว พร้อมกับเผยว่า ได้มีคำสั่งออกหนังสือนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 กรกฏาคมแล้ว และเตรียมนัดประชุมวิป3ฝ่าย วันที่ 26 กรกฏาคม เวลา 14.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น