มติ ป.ป.ช.คอนเฟิร์ม ฟัน “สุวิจักขณ์” ซื้อนาฬิกา รัฐสภาแพง พ่วง “นายก อบจ.มหาสารคาม” ปมทุจริตจัดซื้อเวชภัณฑ์สู้โควิด พร้อม “อดีตอัยการตะกั่วป่า” เรียกเงินญาติผู้ต้องหาแลกลดโทษ
วันนี้ (10 ส.ค.) นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช แถลงผลการชี้มูลความผิดใน 3 คดีสำคัญ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายวัชระชัยย์ หรือ สุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมพวก 16 ราย กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภาของสำนักงานเสขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนอู่ทองใน เขตตุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2556 โดยมิชอบ ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณโครงการ 15,122,845 บาท
จากการไต่สวนดังกล่าวพบว่า ติดตั้งโดยจ้างบริษัทเอกชน และมีการแก้ไขคุณสมบัติของนาฬิกาให้เป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งไม่ตรงกับ TOR ต่อมาในขั้นตอนของการอนุมัติพบว่าไม่ได้เสนอราคามาตรฐาน หรือราคากลาง ของทางราชการ หรือ ราคาที่เคยจัดซื้อล่าสุดในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการยื่นซองประกวดราคา มีเพียง 2 บริษัทที่ยื่นซอง โดยบริษัทชนะการประกวดราคา เป็นบริษัทเสนอราคาต่ำสุด 14,891,083 ล้านบาท ทั้งที่บริษัทดังกล่าว ไม่ได้จำหน่ายและติดตั้งระบบนาฬิกา โดยพบว่า มีการปลอมแปลงเป็นการสั่งซื้อจากบริษัทอื่นเพื่อมาติดตั้งและส่งมอบ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า บริษัทเอกชนดังกล่าว ปลอมแปลงหนังสือรับรองผลงาน สัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภา ไม่ได้เบิกค่าจ้างและบอกเลิกสัญญาในเวลาต่อมา ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติ ดำเนินคดีอาญาและวินัยนายวัชระชัยย์ หรือ นายสุวิจักขณ์
ส่วนผู้บริหารและบริษัทเอกชน ที่ชนะการประกวดราคา และบริษัทผู้เสนอราคาแข่งขันประกวดราคาอีกราย มีความผิดทางอาญาและความผิดตามกฎหมายเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภา มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังชี้มูลความผิด นายธรรมะ หรือ นายชินโชติ สอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดตะกั่วป่า สำนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พร้อมพวก เรียกรับผลประโยชน์จากญาติ ของผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมในคดีครอบครองอาวุธปืน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้ลงโทษผู้ต้องหาในสถานเบา กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 61 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหารายหนึ่ง และตั้งข้อหามีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการสั่งฟ้องคดีนายธรรมะได้เรียกเงินจากญาติของผู้ต้องหา 500,000 บาท มีหลักฐานเป็นคลิปการสนทนา ทั้งนี้ ญาติของผู้ต้องหาไม่จ่ายเงินตามที่เรียก ต่อมานายธรรมะ จึงได้สั่งฟ้อง พร้อมเพิ่มเติมร่างคำฟ้องของพนักงานอัยการ บิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ลงโทษผู้ต้องหาสถานหนัก ป.ป.ช.จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าว มีมูลความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงถูกไล่ออก แต่ แต่คดีทางวินัยไม่ต้องส่งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการ
และยังมีมติชี้มูลนายกองโท นางคมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไวรัสโคโรนาโดยมิชอบ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่านางคมคาย จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ก่อนที่จะให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนให้ความเห็นชอบ และทำสัญญาจัดซื้อในราคาแพงกว่าปกติ โดยมีการจัดซื้อทำสัญญา 3 ฉบับ วงเงินฉบับแรกวงเงิน 1,942,400 บาท ฉบับที่ 2 วงเงิน 1,050,000 บาท และฉบับที่ 3 วงเงิน 892,500 บาท รวม 3 สัญญา เป็นเงิน 3,884,900 บาท
อีกทั้งในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ขายนั้น ไม่ได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คไว้ในต้นขั้ว ป.ป.ช.จึงเห็นว่าการกระทำของนางคมคาย มีมูลความผิดทางอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ รวมถึงมีมูลทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ต้องถูกถอดถอน
ส่วน นายแสวง สำราญดี ปลัด อบจ.และ นายคุณาวุฒิ ไชยคำภา รองปลัด อบจ.มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่ นางเพ็ญศรี แสงดารา รองปลัด อบจ.มหาสารคาม พร้อมกับเจ้าหน้าที่ อบจ.มีความผิด ทางวินัยไม่ร้ายแรง จากการประมาทเลินเล่อในหน้าที่ มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ส่วนบริษัทเอกชน มีความผิดทั้งอาญาและกฎหมาย การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ ให้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ และส่งเรื่องให้ผู้บัญชาให้ดำเนินการต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.ให้สำนักงาน กกต.ทราบ เพื่อให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่