มาอีกหนึ่ง! “แอปฯ ศูนย์ดำรงธรรม” มหาดไทย ทุ่ม 10 ล้าน พัฒนาระบบเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จากทั่วประเทศ ร่วมกับ 10 หน่วยงานรัฐ หลังทำเอ็มโอยู ลดขั้นตอนการทำงาน หลังเตรียม ผุด “ศูนย์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประเทศ” เผย มท.เพิ่งเปิดตัวสารพัดแอปฯ เฉพาะ “ThaID” ของ ปค.งบเกือบ 230 ล้าน บัตรประชาชนผ่านแอปฯ ใบเดียวจบ
วันนี้ (9 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สปมท.) ออกประกาศเตรียมประกวดราคา
โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมเพื่อการยกระดับเป็นศูนย์ดำรงธรรมอัจฉริยะ ระยะที่ 1 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
โดยโครงการนี้ กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สปมท.ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 10 ล้านบาท ตามแผนเดิม และทีโออาร์ ระบุว่า
เพื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ทั่วประเทศ ทั้งระดับ ตำบล อำเภอ และจังหวัด กับหน่วยงานภาครัฐ 10 หน่วยงาน เพื่อเป็น "ศูนย์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประเทศ"
“หน่วยงานเจ้าของโครงการ เล็งที่จะพัฒนาระบบงานบริการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ และข้อมูลเว็บเซอร์วิส บนอุปกรณ์พกพา (Mobile Application) สำหรับประชาชน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่”
ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียบร้องทุกข์ เพื่อให้สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิชัน ทางรัฐ และ Platform อื่นๆ”
สำหรับ 10 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) โดยเน้นการลดขั้นตอนการทำงาน ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในอนาคต จะมีการรายงานข้อร้องเรียนผ่าน รูปแบบ Dashboard GIS และรูปแบบอื่นๆ สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวโน้ม
และทิศทางของปัญหาการร้องเรียนร้องทุกข์สำหรับ ใช้ในการวางแผน ติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียบร้องทุกข์
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแก้ปัญหาประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน เช่น “ThaID” หรือ “ไทยดี” ของกรมการปกครอง ที่สามารถแสดงบัตรประชาชนผ่านแอปฯ ได้ทันที
สามารถยกระดับการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ผ่าน โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA - Digital ID) โดยได้รับจัดสรรงบปี 2566 วงเงิน 229,043,000 บาท
ขณะที่ เมื่อปี 2563 “กรมที่ดิน” ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “สมาร์ทแลนด์” (SmartLands) ที่รวบรวมงานบริการกว่า 18 รายการ ง่ายต่อการค้นหา โดยประชาชนสามารถใช้บริการได้ฟรี ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดิน สะดวก รวดเร็วและลดค่าใช้จ่าย.