รัฐบาลเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกเหล้าเข้าพรรษา สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายลดความเสี่ยงโรคได้กว่า 230 ชนิด แถมช่วยลดรายจ่ายครอบครัวเพิ่มเงินในกระเป๋า
วันนี้ (31 ก.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค. 66 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และเครือข่ายงดเหล้า จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ”
ในโอกาสนี้ รัฐบาลจึงขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมลด ละ เลิก เหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตลอดเทศกาลเข้าพรรษาที่จะมาถึง ให้ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสที่เกิดความสูญเสียกับครอบครัวและสังคมโดยรวมจากอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือนได้มาก ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 65 ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 เหล่านักดื่มต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 60 เกือบ 2 เท่า โดยผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ และมิติของสังคม โดยมิติทางเศรษฐกิจนั้นได้มีกฎกระทรวงที่ลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบการอนุญาตให้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ย.65 เพื่อประโยชน์ในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และลดการผูกขาดทางการตลาด แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการขับเคลื่อนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อจำกัดไม่ให้กิจกรรมที่มาจากการแข่งขันทางธุรกิจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการดื่มที่มากขึ้น
ตลอดจนขับเคลื่อนการรณรงค์เพื่อสร้างความรอบรู้ผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ต้องเน้นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ควบคุมจุดจำหน่าย ความหนาแน่นของร้านค้า การกำหนดโซนนิ่ง เป็นต้น