xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือน "สุรา" กระทบสมองยันสืบพันธุ์ ชวนเลิกเหล้าเข้าพรรษา แนะอย่าหยุดดื่มเองทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้ดื่ม "สุรา" ส่งผลเสียร่างกายหลายระบบ ตั้งแต่สมองยันระบบสืบพันธุ์ ชวนงดเหล้าเข้าพรรษา ย้ำอย่าหยุดดื่มเองทันที ควรปรึกษาแพทย์ มี 2 แนวทาง แบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ป้กันอาการถอนพิษสุรา

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด , ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา , ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ , ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และระบบอื่นๆของร่างกายอีกมากมาย เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล

ทั้งนี้ พิษของสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัว หน้าที่การทำงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น ดื่มแล้วขับซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 ขอชวนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง การลดปริมาณการดื่มสุราลงจะทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ลดลง เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ดื่มสามารถเลิกดื่มสุราได้ในอนาคต ทั้งนี้ผู้ดื่มไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือ เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่ สบยช.และ รพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่ง

การบำบัดรักษาอาการติดสุรา มี 2 รูปแบบ คือ 1.แบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดสุราไม่รุนแรงมาก กินยายาเองและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกายหรือทางจิตที่รุนแรง หลังจากบำบัดอาการถอนพิษสุราแล้ว จะได้รับการนัดเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด เพื่อส่งเสริมการหยุดดื่มอย่างต่อเนื่อง และ 2.แบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ติดสุราที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ แพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น