“อดีตรองอธิการบดี มธ.” ยกข้อกฎหมายอธิบาย เหตุแห่งศาล รธน.จะไม่รับวินิจฉัย ปมเลือกนายกฯ เป็น “ญัตติ” หรือไม่ ดับฝัน “พิธา-ก้าวไกล” เชื่อ 4 ส.ค.โหวตนายกฯคนใหม่ “สมชาย” ยกนิด้าโพล ขยี้ซ้ำ “ผิดพลาด-ไม่สำนึกผิด”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 ก.ค.) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
“อาจารย์นิติศาสตร์ 115 คนจากทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่รัฐสภามีมติว่า การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ทำให้ไม่อาจเสนอชื่อนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 ได้ ตามข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 เป็นการทำให้มติรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อันจะทำให้การสอนลำดับชั้นของกฎหมายยากที่จะทำได้ ก่อนหน้าแถลงการณ์ดังกล่าวก็มีนักกฎหมายชั้นนำของประเทศ 2 ท่านออกมาแสดงความเห็นแบบเดียวกัน ดังนั้น เพื่อความกระจ่างเราลองนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมาพิจารณา โดยเริ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญก่อน
รัฐธรรมนูญมาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ………
รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นขอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 159 และมาตรา 272 เพียงระบุว่า ให้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ แต่อย่างใด
แน่นอนว่า ข้อบังคับรัฐสภาไม่อาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่ต้องถกเถียงกัน และผู้ที่สอนกฎหมายก็ไม่เห็นจะมีความยากลำบากในการสอนลำดับชั้นของกฎหมายตรงไหน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 128 และมาตรา 157 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปจัดทำข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภาเพื่อใช้ดำเนินการประชุม และให้จัดทำข้อบังคับการประชุมเป็นการเฉพาะเพื่อใช้สำหรับการประชุมรัฐสภา ซึ่งหมายถึงการประชุมร่วมกันของ 2 สภา
ด้วยเหตุนี้ ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาจึงมาจากรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการกำหนดขึ้นเอง ซึ่งเท่ากับว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 128 และมาตรา 157 อนุญาตให้รัฐสภาสามารถออกข้อบังคับเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการประชุมได้เอง เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพียงระบุว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีรายละเอียดอื่นใด ดังนั้นรายละเอียดในการดำเนินการประชุมจึงควรเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา
ข้อบังคับรัฐสภาข้อ 36 ระบุว่า “ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ผู้รับรองญัตติให้การรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ เว้นแต่การรับรองการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อ 136″ และข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 ระบุว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”
คำถามคือข้อบังคับทั้ง 2 ข้ออยู่เหนือรัฐธรรมนูญตรงไหน
ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 กรกฎาคม แม้ว่าจะมีผู้เสนอว่าการเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องถือเป็นญัตติ ดังนั้นต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 แต่แทนที่จะลงมติว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นญัตติหรือไม่โดยดูที่ข้อบังคับข้อ 36 แต่กลับไปให้ลงมติว่า การเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41 หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อบังคับข้อ 36 ก็จะเห็นว่าการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่สามารถเสนออีกครั้งได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินถึง 17 ราย เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มสูง ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับวินิจฉัย เนื่องจากพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7(8) ระบุว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เท่านั้น
ดังนั้น จึงน่าจะฟันธงได้เลยว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 4 สิงหาคม จะมีญัตติการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ค่อนข้างแน่
เราลองมองอีกมุม ลองพิจารณาว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคืออะไร มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ หากพรรคการเมืองพากันเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคละ 3 ชื่อ และเมื่อพรรคที่ได้ส.ส.มาเป็นอันดับที่ 1 เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เมื่อไม่ผ่านก็เสนอเข้ามาอีก และเสนอเข้ามาอีก จนกว่าจะเห็นว่าไม่มีโอกาสแล้ว จึงเสนอชื่อที่ 2 และชื่อที่ 3 ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน เช่นนี้จะต้องใช้เวลานานเท่าใด จะเป็นไปได้หรือว่า นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ไม่ว่าจะพิจารณาในมุมใด คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไม่มีทางได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอย่างแน่นอน”
ขณะเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเพสบุ๊กระบุว่า
#ข้อผิดพลาดของก้าวไกล
#โทษสวโทษทุกคนยกเว้นตนเอง
#งานการเมืองหาใช่เด็กอยากได้ของเล่น
#ไม่รู้สึกผิดไม่คิดแก้ไข
ผล ‘นิด้าโพล’ ชี้ ประชาชนมอง 'ก้าวไกล' ผิดพลาด เพราะไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย
https://www.thaipost.net/politics-news/422501/
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 30.46 ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งนั้น ร้อยละ 27.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้ ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง ร้อยละ 10.23 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทยๆ
ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 7.94 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับ พรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา ร้อยละ 7.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟังแฟนคลับของตนเองมากเกินไป ร้อยละ 6.11 ระบุว่า พรรคก้าวไกลหลงไปกับตัวเลข 14 ล้านเสียง และ 151 ส.ส. มากเกินไป ร้อยละ 5.88 ระบุว่า กุนซือ นักวิชาการของพรรคก้าวไกลที่อยู่นอกพรรคฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หากพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.19 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่แต่จะสามารถควบคุมได้ รองลงมา ร้อยละ 24.81 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้ ร้อยละ 23.66 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่และไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 11.99 ระบุว่า จะไม่มีการชุมนุมใด ๆ ร้อยละ 2.90 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยแต่จะไม่สามารถควบคุมได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากรและวิธีการดำเนินการทางการเมืองคล้ายกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่มีความประนีประนอมมากกว่า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.88 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 33.89 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 9.62 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ