รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบฯ 65 มีการเบิกจ่ายงบฯ 130,480.54 ล. ดูแลผู้มีสิทธิ 47.46 ล.คน ครอบคลุมการดูแลรักษาพื้นฐาน เฉพาะโรค เฉพาะกลุ่ม และส่งเสริมสุขภาพ พร้อมยกระดับคุณภาพบริการและการคุ้มครองสิทธิ
วันนี้ (18 ก.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอ โดยมีข้อมูลการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
ในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับหน่วยบริการให้ผู้มีสิทธิรวม 130,480.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.84 ของงบประมาณทั้งหมด 140,550.19ล้านบาท ด้านความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าสิทธิกองทุน สปสช. ครอบคลุมคนไทย 47.46 ล้านคน มีการลงทุนเลือกหน่วยบริการประจำ 47.18 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมที่ร้อยละ 99.40
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 มีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีทั้งสิ้น 15,847 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยปฐมภูมิ 12,185 แห่ง หน่วยบริการประจำ 1,213 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป 1,085 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน 4,633 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านผลงานบริการตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร พบว่า มีการให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว สำหรับผู้ป่วยนอก 167 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 6.2 ล้านครั้ง บริการกรณีเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน 6,871 คน บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3.9 ล้านคน ส่วนบริการเฉพาะกลุ่ม(นอกงบเหมารายจ่ายรายหัว) เช่นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี 198,199 คน ผู้ป่วยไตวายเข้ารับการล้างไต ฟอกไต ปลูก่ถายไต 82,463 คน ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงติดเตียง 201,291 คน
นอกจากนี้ สปสช. ได้ผลักดันในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข โดยพบว่าหน่วยบริการรับส่งต่อในเครือข่ายได้รับการรับรองตามกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับ HA (Hospital Accreditation) ร้อยละ 84.79 หรือ 920 แห่ง จากที่มีการประเมิน 1,085 แห่ง รวมถึงให้การคุ้มครองสิทธิผ่านกลไกต่างๆ เช่น มีช่องทางให้สอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วย และบริการเชิงรุกผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ช่องทางออนไลน์ต่างๆ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตลอดจนมีกลไกการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและเครือข่ายของท้องถิ่น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความท้าทายในบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องดำเนินการระยะต่อไปมีหลายประการ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน สปสช. โดยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ การตรวจสอบการเบิกจ่ายแบบเรียลไทม์ การใช้ AI เข้ามาตรวจสอบการจ่ายชดเชย ต้องมีการพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ
ต้องพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงโดยุมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น การเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบบริการปฐมภูมิ การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพ ตลอดจนการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบ